สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ว่า นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ต้อนรับนายไมเคิล คอฟริก และนายไมเคิล สปาวอร์ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติคัลการี ในรัฐแอลเบอร์ตา ทางตอนใต้ของประเทศ โดยพลเมืองแคนาดาสองคนเดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษของรัฐบาล ซึ่งรับตัวทั้งคู่ออกจากจีน เมื่อวันเสาร์ หลังถูกรัฐบาลปักกิ่งจับกุมและดำเนินคดีจารกรรม เมื่อเดือน ธ.ค. 2561
ขณะที่ผู้นำแคนาดากล่าวกับคอฟริกและสปาวอร์ ซึ่งผอมลงมากอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับภาพถ่ายที่เคยปรากฏออกมา ว่าทั้งคู่ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนานกว่า 1,000 วัน รัฐบาลและชาวแคเนเดียนรับทราบข่าวสาร พยายามหาทางช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้กับทั้งคู่มาตลอด
ด้านผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่มองไปในทางเดียวกัน ว่าแม้รัฐบาลปักกิ่งยืนกรานปฏิเสธ ว่าคดีความของคอฟริก ซึ่งเป็นอดีตนักการทูต และสปาวอร์ซึ่งเป็นนักธุรกิจ  "ไม่มีความเกี่ยวข้องในทางใด" กับกรณีของ น.ส.เมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยและทายาทคนโตของผู้ก่อตั้งบริษัท แต่ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวด้านกระบวนการทางกฎหมายของทั้งสามคน "เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน" 
ขณะเดียวกัน ยังมีการเปรียบเทียบอีกว่า "เหมือนการแลกตัวนักโทษสมัยสงครามเย็น"  โดยการได้รับอิสรภาพของคอฟริกและสปาวอร์เป็นการส่งสัญญาณเตือนจากจีนว่า "หากถูกลำเส้นก่อน" รัฐบาลปักกิ่งไม่ลังเลที่จะใช้นโยบาย "การทูตตัวประกัน"
นายไมเคิล คอฟริก
ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันยังไม่มีปฏิกิริยามากนักต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวแคเนเดียนทั้งสองคน และเมิ่ง อย่างไรก็ตาม การได้รับอิสรภาพของทายาทหัวเว่ยมีการเปิดเผยว่า เป็นผลจาก "การบรรลุข้อตกลง" ระหว่างจำเลยคือเมิ่ง กับพนักงานสอบสวนของสหรัฐ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ รวมถึงการที่เธอ "ยอมรับความผิดพลาด" ต่อการนำเสนอ "เนื้อหาทางธุรกิจ" ที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า มีการจัดตั้งบริษัทบังหน้าในการทำธุรกิจกับอิหร่าน ซึ่งสหรัฐถือว่า ละเมิดกฎหมายการคว่ำบาตรต่อิหร่าน 
น.ส.เมิ่ง หว่านโจว โบกมือให้กับกองทัพสื่อมวลชน เมื่อเดินทางกลับจากแคนาดาถึงสนามบินในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน
นอกจากนี้ เธอยังต้องปฏิบัติตาม "เงื่อนไขอีกหลายประการ" จนถึงเดือน ธ.ค. 2565 แล้วกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐจะถอนฟ้องทุกข้อกล่าวหา ต่อศาลรัฐบาลกลางที่นครนิวยอร์ก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันเพิกถอนคำร้องต่อรัฐบาลแคนาดา ในการขอให้มีการส่งตัวเมิ่งในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว.

เครดิตภาพ : AP