เราต้องผลักดันให้สมองซีกซ้ายทำงานร่วมกับสมองซีกขวา เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะว่า “ยังไม่เคยมีใครคิดอะไรว้าว ๆ ได้” หรือไม่ก็ “คิดมาแล้ว แต่เป็นว้าวแบบยี้ ๆ”

งานแถลงข่าวของ ททท. ในอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่อง “Thailand Soft Power X Guinness World Records” ซึ่งจะมีการแข่งขัน 5 อย่าง คือ 1.ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุด 2.ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุด 3.กินปาท่องโก๋มากที่สุด 4.ใส่หน้ากากผีตาโขนมากที่สุด และ 5.กินป๊อปคอร์นเยอะที่สุด นับเป็นการแถลงข่าวที่มีผู้คนพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ททท. และส่วนใหญ่เป็นเชิงลบ ยกเว้นคนที่มองโลกในแง่ดี ก็พยายามชื่นชมอย่างขำ ๆ ในความคิดสร้างสรรค์ระดับพระกาฬ

นักวิชาการด้าน Design Thinking บอกว่า กว่าจะได้โครงการที่ว้าว ๆ แบบนี้ ต้องผ่านขบวนการ “4 What” ได้แก่ 1.What is ในเรื่องนี้คือ Soft Power มันคืออะไรกันแน่ แล้วโครงการนี้จะทำอะไร เช่น โปรโมตให้ชาวโลกรู้ว่า Soft Power ไทย น่าสนใจระดับโลก ให้คนมาเที่ยวเมืองไทยกันเยอะ ๆ 2. What if เพื่อให้ได้ผลตามข้อ 1. เรามีทางเลือกกี่แบบ แบบไหนตอบโจทย์ และสามารถพัฒนาให้ว้าวได้ 3.What wow นำทางเลือกที่ดีที่สุดมาพัฒนาต่อให้ว้าว กรณีนี้คือ 5 F Food/Fashion/Film/Fight/Festival เลือกตัวแทนแต่ละ F มาแล้ว จัดแข่งให้ยิ่งใหญ่ระดับโลก กับ Guinness World Records มันดูว้าวมาก จนคนวิจารณ์กันสนั่นเมือง และสุดท้าย สิ่งที่ขาดหายไปอย่างสิ้นเชิง คือ 4.What work ทำให้ตอบโจทย์ข้อที่ 1. ส่งเสริม Soft Power Thai ให้โด่งดังในระดับโลกได้อย่างไร ด้วยวิธีการ และงบประมาณที่คุ้มค่าที่สุด

อย่างน้อยถ้ามองโลกในแง่ดี อย่ามัวแต่หัวเราะกันจนท้องแข็ง เราก็น่าจะชื่นชมคนคิดโครงการนี้ ที่ทำข้อ 3.What wow ได้เยี่ยมยอดมาก ถึงแม้ What is, What if และ 4 What work อาจจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม ว่าแต่ว่า เมื่อไร ททท. จะเปิดตัว “นวัตกร ผู้คิดค้นโครงการนี้” ทีมนี้น่าจะมีอนาคตไกลทีเดียว และมีผู้คนรอคอยอยากรู้จักพวกเขาจำนวนมาก…ถ้าไม่ประสงค์จะออกนาม ก็แค่ใส่กางเกงช้าง สวมนวม และใส่หน้ากากผีตาโขนปิดบังไว้ก็ย่อมได้.