ผมชอบฟัง อจ.Jeffry บรรยาย เพราะท่านพูดตรงประเด็น ไม่เกรงใจใคร ฟังง่าย และเสนอแนะสิ่งสำคัญที่ควรทำเร่งด่วนได้แม่นยำเสมอ แต่บังเอิญช่วงที่ท่านบรรยาย ผมติด Live สด เรื่อง Trend 2024 ของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ดำเนินรายการโดย บก.Sustainable Daily ของเดลินิวส์ ผมจึงต้องฟังออนไลน์ หูหนึ่งก็ฟัง อจ.Jeffrey ไปเงียบ ๆ อีกหูหนึ่งก็ฟังคำถามของ บก. และบรรยายไปพร้อมกัน

อจ.Jeffrey บอกอะไรคนไทย และอาเซียน ท่านบอกว่าก่อนมี SDG ทาง UN ได้ชวนประเทศต่าง ๆ มาร่วมคิดว่าเราต้องการอนาคตแบบไหน “The Future We Want” UN ได้รวบรวมความคิดเห็น 3 ปี ก็ได้เป้าหมาย SDG 17 ข้อ เป้าหมายนี้มีเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016-2030 ตอนนี้มาครึ่งทางแล้ว แต่เกือบทุกเป้าหมายยังคงเป็นสีแดง คือ ยังไม่บรรลุ นี่คือสาเหตุที่ เลขาธิการ UN ได้ออกมาประกาศว่าเราเข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว และมวลมนุษยชาติกำลังแง้มประตูสู่ขุมนรกอเวจี โดยอจ.Jeffrey เน้นว่าสิ่งที่เราไม่เหลือแล้วคือ “เวลา” เวลาหมุนเร็วกว่าผลงานที่เราทำได้ เราจึงต้องคิดใหม่ และมีแผนงานตามเวลาที่จำกัดให้ชัดเจน และท่านบอกอีกว่าเรามีเป้าหมายชัดเจน 17 ข้อ แต่ถ้าไปดูรายละเอียดรายประเทศว่าทำไมเราไม่บรรลุ พบว่าเราไม่มีแผนงานขับเคลื่อน มีแต่โครงการต่าง ๆ กระจัดกระจาย แม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่เชื่อมโยงกันไม่ได้ ไม่ทันเวลา ดังนั้น เวลาที่เหลือเราควรมี SDG Action Plan เหมือนคำถามที่ผมชอบถามผู้นำภาคเอกชนและภาครัฐว่า “เอาจริงหรือเปล่า ถ้าเอาจริงเราต้องมีแผนงาน มีผู้รับผิดชอบชัดเจน และมีงบประมาณ ซึ่งมักจะได้ยินแค่เสียงของความเงียบสงัด

แล้วทำไมถึงไม่มีแผนงาน-ไม่มีนโยบาย? ท่านบอกว่า นโยบายส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองในสภา ในกระทรวงซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ไม่สนใจเรื่องความยั่งยืน สถาบันการศึกษาที่ท่านผู้ทรงเกียรติจบมาก็ไม่ได้สอน หรือสอนไม่ดีพอ ท่านยกตัวอย่างประเทศของท่านเองในสหรัฐอเมริกา นักการเมืองที่มีความรู้และสนใจเรื่องความยั่งยืนคงมีไม่ถึงครึ่ง ซึ่งผมเดาว่าท่านกล่าวอย่างสุภาพมาก เพราะที่จริงแล้วคงจะน้อยกว่านั้น ท่านบอกว่านักการเมืองในประเทศของท่านให้ความสำคัญกับการเป็นที่ 1 ของโลก ดังนั้นจึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการตลาด ด้วยทุนนิยมมากกว่าความยั่งยืน และอิทธิพลนั้นส่งผลกับการเติบโตที่ไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก นี่ยังไม่นับรวมเรื่องการทหารและสงคราม ที่ช่วยประคองความมั่งคั่ง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ดังนั้นการขับเคลื่อนความยั่งยืนในประเทศที่ประชากรปลดปล่อยคาร์บอนคนละ 50 ตันต่อปี และไม่ค่อยสนใจ จึงเป็นไปได้ยาก และมีต้นทุนสูง

แล้วที่ใดในโลกมีศักยภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนความยั่งยืน? อจ.Jeffry บอกว่า “ก็เอเชียไง” ถ้ารวมเอเชียแปซิฟิก เรามีจำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่พอคุ้มทุน มีฐานทรัพยากรที่ยังคงสมบูรณ์ หลาย ๆ ประเทศพัฒนาพลังงานสะอาดที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว เรามีต้นทุนการขับเคลื่อนตํ่ากว่ายุโรปและอเมริกา และที่สำคัญถ้าเอาเงินทุนสำรองมากองรวมกัน เราจะมีแหล่งทุนสีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก ไม่ต้องรอการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

แล้วอะไรคืออุปสรรค? ท่านว่า “Mindset” เราต้องเชื่อก่อนว่าเราทำได้ เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องตามมหาอำนาจ เราต้องร่วมมือกันเองให้ได้ ประโยชน์ส่วนรวมของโลกของเอเชียแปซิฟิกต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน ฟังดูเหมือนการระเบิดจากข้างใน พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สุดท้ายท่านให้การบ้านแก่คนไทยและผู้นำของประเทศในเอเชียแปซิฟิกไว้ว่า gik ต้องร่วมมือกันทำแผนงานการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ SDG Action Plan อย่างเร่งด่วน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.คุณภาพการศึกษาและการพัฒนาคน เรื่องนี้สำคัญที่สุด Infrastructure ได้เริ่มพัฒนามาหลายปีแล้วตามแผน แต่การพัฒนาคนเรื่องความยั่งยืนช้ามาก ต้องลงทุน ต้องทำจริงจัง เร่งด่วน ต้องเปลี่ยนให้ได้ทั้ง Mindset ฝึกฝน Skill Set และมี Toolset เพื่อทำให้ได้อย่างมืออาชีพและเป็นระบบ โดยถ้ามีแผนงานข้อ 1. นี้ ชัดเจนแล้วก็ถือว่าสำเร็จไปแล้ว 70% ข้อที่เหลือก็เป็นเรื่องรอง 2.ความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ และสุขภาวะที่ดี 3.พลังงานสะอาดสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ 4.เกษตรก้าวหน้าและอาหารที่ยั่งยืน 5.มหานครแห่งความยั่งยืน 6.การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลที่นำไปสู่ความยั่งยืน และสำหรับท่านที่สนใจสามารถฟัง อจ.Jeffrey ย้อนหลังได้ที่เพจของกระทรวงการต่างประเทศและ SX และสามารถฟังเทรนด์ของความยั่งยืน 2024 ได้ที่ YouTube Channel ของเดลินิวส์ โดยทั้ง 2 เวทีที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันนี้ มีเรื่องราวดี ๆ ที่คล้ายกัน เป็นความหวังแห่งความยั่งยืน และเป็นอนาคตที่มวลมนุษยชาติต้องการ

“The Future We Want”.