จากกรณีเกิดเหตุฆาตกรรมอุกฉกรรจ์ในจังหวัดสระแก้ว “น.ส.บัวผัน ตันสุ” อายุ 47 ปี หญิงสติไม่สมประกอบ ได้ถูกกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-16 ปี จำนวน 5 ราย โดยในจำนวนนี้มีลูกของนายตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร่วมกันทำร้ายร่างกายป้าบัวผันอย่างสาหัสจนถึงแก่ชีวิต ก่อนนำร่างทิ้งสระน้ำ ต่อมาตำรวจจับกุมนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 54 ปี หรือลุงเปี๊ยก (สามีผู้ตาย) และดำเนินการสอบปากคำ พาชี้จุดก่อเหตุประกอบคำรับสารภาพ ก่อนฝากขังศาลส่งเข้าเรือนจำจังหวัดสระแก้ว กระทั่งพบพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดจึงทราบว่าลุงเปี๊ยกคือแพะในคดี ต่อมาจึงมีการเริ่มเปิดเผยว่าในขั้นตอนสอบปากคำลุงเปี๊ยก พนักงานสอบสวน สภ.อรัญประเทศ ได้มีการใช้ถุงดำคลุมศรีษะ มีการเร่งแอร์จนหนาวเย็นและบังคับให้ลุงเปี๊ยกถอดเสื้อ จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงว่าเป็นการกระทำทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรากฏเอกสารด่วนที่สุด ที่ ยธ. 0853/260 ลงนามโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำส่งไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เรื่อง แจ้งเรื่องการสอบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก โดยภายในเอกสารระบุเนื้อหา ว่า “ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างการสืบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 (เลขสืบสวนที่ 11/2567) ในการนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการรับกรณีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนเป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565”

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระบุอยู่ภายใน หมวด 4 การดำเนินคดี สาระใจความว่า

“ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น นอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่ง ตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และดำเนินคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกัน

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้คดีใดให้คดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

กรณีการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนทันที

ในกรณีไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดหรือหน่วยงานใด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ”.

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ วันที่ 22 ม.ค. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมด้วย น.ส.วิ (นามสมมุติ) อายุ 45 ปี หลานสาวของนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 56 ปี หรือลุงเปี๊ยก สามีของ น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือป้าบัวผัน ได้เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่สอบปากคำลุงเปี๊ยกว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ เป็นตัวแทนรับเรื่อง พร้อมระบุชี้แจงว่า เบื้องต้นดีเอสไอจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะดำเนินการโดยกองกิจการอำนวยความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดีเอสไอได้มีการเริ่มสืบสวนข้อมูลและค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุต่างๆ ส่วนกรณีพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จะเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ จะต้องดูองค์ประกอบของข้อกฎหมายหลายประการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง อาทิ การถูกจำกัดเสรีภาพ การกระทำบางอย่างจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องรับสารภาพ หรือการกระทำอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจ และข้อเท็จจริงอื่นมาประกอบ จึงจะสรุปในภายหลังได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีความผิดตามมาตราใดของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ .