เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางรัก ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชาหรือกัญชงบริเวณใกล้สถานที่เปราะบาง (สถานศึกษา) เปิดเผยผลการศึกษาว่า จากการรายงานของคณะกรรมการฯ พบว่า เด็กและเยาวชน ตั้งแต่ช่วงอายุ 12 – 18 ปี ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเข้าถึงกัญชาหรือกัญชงได้โดยง่ายในทุกพื้นที่

ซึ่งผลกระทบหนักที่สุด คือ เด็ก ที่บริโภคหรือสูดดมกลิ่นควันจากผู้อื่นที่ใช้กันชงและกัญชา ส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพ และต้องเข้ารับการรักษาในรพ. และบางส่วนที่เป็นผู้ใช้เอง ก็อยู่ระหว่างการเข้ารับการบำบัดจากรพ.ด้วย ทางคณะกรรมการศึกษาฯเรื่องดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักอนามัย กทม. ซึ่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการวิสามัญฯ ศึกษาและเสนอ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (กัญชา)

โดยให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ร่วมกันพิจารณารวมทั้งเชิญผู้แทนสำนักงานกฎหมายและคดี และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ร่วมกันกำหนดข้อเสนอแนะ เพื่อให้ข้าราชการ สังกัดกทม.เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน่วยงานหนึ่งในการเน้นการตรวจสอบให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการออกใบอนุญาต เพื่อป้องกันการกระทำผิด และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้ไข (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ หรือประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

นายวิพุธ กล่าวต่อไปว่า จากการหารือกันของคณะกรรมการฯ กำหนดข้อเสนอแนะ ออกเป็น 6 ส่วน คือ 1.ให้หน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะกรมการแพทย์แผนไทย ฯ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประเมินผลดี-ผลเสีย จากการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากมีผลเสียมากกว่าควรนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และควรใช้ทางการแพทย์

2.หากไม่สามารถดำเนินการในประเด็นดังกล่าวได้ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดัน เร่งรัดออกกฎหมายเฉพาะ กำกับดูแลกัญชาโดยตรง ใน (ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. ……

3.ให้สำนักอนามัยประสานกระทรวงสาธารณสุข ให้นำ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ที่คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาแล้วให้ประกาศใช้ต่อไป

4.ประสานให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร 5.ควรบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายการลงพื้นที่ป้องกันปราบปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ6.ควรกำหนดให้พื้นที่โดยรอบสถานศึกษาห้ามจำหน่ายกัญชาหรือการชง ซึ่งรวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชาหรือกัญชงในรัศมี 300 เมตร .