ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ประกอบไปด้วยโลหะหนักและสารเคมีอันตรายต่าง ๆ ได้แก่ สารตะกั่วกับแคดเมียม ที่มักพบในกลุ่มแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงแผงวงจรพิมพ์ที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เป็นต้น และสารปรอทที่พบในหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ โดยหากสารเคมีอันตรายดังกล่าวถูกชะล้างและปนเปื้อนลงสู่พื้นดินและนํ้า ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและเกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง ภาวะความผิดปกติทางสมองและระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

ทั้งนี้จากข้อมูล Irvine researchers ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้น 53% ในช่วงระหว่างปี 57-63 และคาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นจาก 580 ล้านเมตริกตันในปี 63 มาอยู่ที่ราว 852 ล้านเมตริกตันในปี 73 หากยังไม่มีการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง

หลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป และประเทศในเอเชียต่างหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลง เช่น ในปี 65 สหภาพยุโรปได้ผ่านร่างกฎหมายมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ชาร์จไฟที่กำหนดให้ช่องชาร์จประเภท USB-C เป็นช่องชาร์จมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต กล้องถ่ายรูป เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคและลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการใช้สายชาร์จหลายชนิด

ข้อมูลบทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า แนวโน้มการลงทุนใน Green technology หรืออิเล็กทรอนิกส์สีเขียวจะมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนในระยะยาว แม้ว่าแนวโน้มการลงทุน Green technology จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และมลพิษทางอากาศในระยะเริ่มต้น แต่ในอีกทางหนึ่งคาดว่าแนวโน้มการลงทุน Green technology ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับ Eco partner มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยแนวทางในการปรับกลยุทธ์ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 1.การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตํ่าหรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น อะลูมิเนียม แก้วทนความร้อนสูง และเหล็กผสมโลหะ ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

2.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม 3.การวางแผนการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำกลับมาใช้ซํ้าหรือการรีไซเคิล การควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

4.การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ทั้งการลงทุนและการสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และ 5.การพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

อย่างไรก็ตามนอกจากการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือผู้บริโภคในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจากฝั่งของผู้ผลิตไปจนถึงปลายทางคือฝั่งของผู้บริโภค ซึ่งภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน รวมไปถึงการให้ส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะที่ถูกวิธี เพื่อที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนไปด้วยกันในอนาคต.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]