ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ปัจจุบันนี้ ภาคเอกชนในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า กำลังเร่งปรับตัวจากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่จากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานนํ้า ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล มากขึ้น

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ประเมินแนวโน้มปี 67 คาดว่า จะขยายตัวได้ 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ช่วยหนุนการเติบโตให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ภายในกลางปี 67 นี้ จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากเพียงใดคงต้องติดตามเพราะทิศทางเศรษฐกิจเองยังคงเปราะบาง ด้วยปัจจัยลบจากปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคานํ้ามันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักการผลิตไฟฟ้าการคมนาคมขนส่งในปัจจุบันยังคงผันผวนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการค้าการบริการ ตลอดจนค่าครองชีพอีกด้วย

ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชน ประกอบด้วย 1. รัฐควรมองแนวทางลดการใช้ฟอสซิลที่นอกจากราคาสูงแล้ว ยังควบคุมราคาไม่ได้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอีกด้วย 2. เพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีเชื้อเพลิง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ร่วมกับแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานที่มีแนวโน้มราคาถูกลง 3. เพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีเชื้อเพลิง เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานขยะชุมชนและอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานราก และยังสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ได้ด้วยการนำสิ่งที่เกษตรกรมักเผาทิ้งในที่โล่งแจ้ง เช่น ฟางข้าว ตอซัง เป็นต้น มาเผาในโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นการเผาในระบบปิดทำให้สามารถลดปัญหาได้

 4.เร่งรัดการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานและเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและ 5. รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้สูงมากเกินไป โดยเฉพาะการกู้ยืมระยะยาว เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน.