มีรัฐบาลทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 200 ประเทศ ได้หารือมุ่งเป้าไปที่แนวทางการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสาเหตุโลกร้อนที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเตรียมรับมือและได้บรรลุข้อตกลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ในเรื่อง Transaction Away ให้โลกเลิกใช้นํ้ามัน ที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดแนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการประกาศในการประชุมตั้งแต่การประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ไว้ว่า “ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือเน็ต
ซีโร่
ในปี พ.ศ. 2608 และมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 40% ให้ได้ในปี พ.ศ. 2573 ที่จะถึงนี้

ที่ผ่านมาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในนามของภาคเอกชนไทย เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนลดปัญหาโลกร้อน ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทางคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสมาคมการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ “ทิศทางธุรกิจไทย หลัง COP 28” เพื่อชี้แนวทางทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจปรับตัว เตรียมพร้อม และสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศทั่วโลก

“บุญรอด เยาวพฤกษ์” กรรมการผู้จัดการ เดอะครีเอจี้ ได้ฉายภาพให้ฟังว่า ที่ประชุม COP 28 ได้ข้อตกลงการใช้งานพลังงานฟอสซิลว่า จะเป็นลักษณะ Fade Out หรือค่อย ๆ ลดการใช้จนกระทั่งเลิกใช้พลังงานฟอสซิล โดยประเทศต่าง ๆ จะพยายามมีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียน 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 2 เท่า ทั้งสองอย่างนี้ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งการประกาศข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย เป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง

อย่างไรก็ตามประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกับเป้าหมายสำหรับโลก ในการปรับตัวต่อภาวะโลกรวน โดยข้อตกลงปารีส มากกว่า 120 ประเทศมีการตั้งเป้าหมายเน็ต ซีโร่ และอีกหลายประเทศกำลังพิจารณาเป้าหมาย โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายของเน็ต ซีโร่ ไว้ในปี 2065 ซึ่งการตั้งเป้าหมายเน็ต ซีโร่ ส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกจำเป็นต้องการการปรับตัว ผลิตภัณฑ์และกระบวนการได้มาซึ่งสินค้า บริการ จะมีการใส่ใจเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น, การกำหนดราคาคาร์บอน หรือ carbon pricing ในอนาคตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทุกครั้งจะมีต้นทุน ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีต้นทุนมากขึ้นหากธุรกิจนั้นเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากกระบวนการ

ขณะที่ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ ซีแบม ส่งผลให้ผู้ส่งออกผลผลิตไปยังประเทศปลายทาง จำเป็นต้องจ่ายให้ประเทศปลายทาง ซึ่งการดำเนินการสู่เป้าหมายเน็ต ซีโร่ ของประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีบทบาทมากขึ้นต่อการทำธุรกิจในอนาคตทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบายความเสี่ยงและผลกระทบแผนธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ส่วน ดร.กนก กาญจนภู ซีอีโอ บริษัทซัสทริก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วย ESG เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลง โดยมองว่า ESG ไม่ใช่ CSR แต่ ESG คือ กรอบความคิดของความยั่งยืน ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก 4 ราย กับการขับเคลื่อน ESG คือ องค์กรระดับนานาชาติ, รัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล, นักลงทุน และลูกค้า ซึ่งหากภาคเอกชนละเลยกระบวนการ ESG จะหมายถึงความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เสี่ยงทางธุรกิจ เสี่ยงการเงิน เสี่ยงทางกฎหมายและการปฏิบัติตาม เสี่ยงด้านชื่อเสียง และเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคล

จุดเริ่มต้นธุรกิจแบบ ESG สิ่งสำคัญ คือ ระบุปัจจัย ESG ที่สำคัญและปัจจัยย่อยต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมและองค์กรของธุรกิจ โดยกระบวนการพัฒนา ESG สำหรับธุรกิจ Education คือ ความตระหนักรู้-การพิจารณา-การตัดสินใจ มีเครื่องมือ การรู้หนังสือ การมองการณ์ไกล การอำนวยความสะดวกเชิงกลยุทธ์ Integration คือ การจัดวางตำแหน่ง-การทำงานร่วมกัน-การปรับใช้ มีเครื่องมือ เป็นการทำแผนที่สาระสำคัญ การกำหนดเชิงกลยุทธ์ นโยบายและการออกแบบกระบวนการ Implementation การประเมิน-การควบคุม-การพัฒนา มีเครื่องมือ เป็นการดำเนินกลยุทธ์ แนวนโยบาย เทคโนโลยีโซลูชัน การวัดและประเมินผล.

ตัวอย่างการวิเคราะห์กระบวนการ MATERIALITY MAPPING

กลุ่มธุรกิจพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อมต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอน มลพิษทางนํ้า ความหมายหลายทางชีวภาพ ตลอดจนระบบการจัดการของเสีย ประกอบไปกับการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับชุมชน คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัย โดยการดำเนินธุรกิจนั้นต้องตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลมีกฎระเบียบจริยธรรม

กลุ่มธุรกิจประมง การดำเนินธุรกิจการประมงอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างมากกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับห่วงโซ่นิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเล มลพิษ ทางนํ้า และยังคงต้องเคร่งครัดในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน มาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน โดยการดำเนินธุรกิจนั้นต้องตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลมีกฎระเบียบจริยธรรม

กลุ่มธุรกิจแฟชั่น ธุรกิจแฟชั่นมีวงจรที่เกิดของเสียจำนวนมากจากกระบวนการผลิต ดังนั้น การใส่ใจเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นทางเลือกที่กำลังอยู่ในกระแส นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีระบบการจัดการของเสีย การจัดการสารเคมีที่ดี หรือบางรายอาจจะเลือกใช้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ และในด้านของทางสังคม ธุรกิจแฟชั่นนั้นจำเป็นจะต้องคำนึงถึงผู้ใช้แรงงาน ต้องได้รับสิทธิและค่าจ้างที่มีความยุติธรรม โดยการดำเนินธุรกิจนั้นต้องตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาล มีการปฏิบัติตามกฎ มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และเน้นยํ้าให้เคารพในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา

กลุ่มธุรกิจ MICE ดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมทรงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ระบบการจัดการของเสีย การปล่อยก๊าซคาร์บอนอันเป็นผลมาจากระบบโลจิสติกส์ และด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจ MICE นั้นขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้นหลีกหนีไม่ได้เลยที่จะมีความหลากหลายของกลุ่มสังคม จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนมาตรฐานแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจนั้นต้องตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลมีกฎระเบียบจริยธรรม ใส่ใจในระบบความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าที่มาใช้บริการ.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]