สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ว่านายอเลฮันโดร มายอร์กาส รมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความพยายามของชาวเฮติเกือบ 30,000 คน ในการลักลอบอพยพข้ามพรมแดน ด้วยการเดินเท้าข้ามแม่น้ำรีโอแกรนด์ พรมแดนธรรมชาติระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐ และสะพานระหว่างประเทศ ที่เมืองเดล รีโอ ในรัฐเทกซัส ตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ว่า "สามารถกระชับพื้นที่ได้แล้วทั้งหมด"
ทั้งนี้ ผู้อพยพ 12,000 คน จะมีโอกาสขึ้นศาลในสหรัฐ เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมายอร์กาสเน้นว่า ผู้พิพากษาจะพิจารณาเป็นรายกรณี ขณะที่ผู้อพยพ 8,000 คน "สมัครใจ" เดินทางกลับไปยังเม็กซิโกตามเดิม และอีก 2,000 คนถูกเนรเทศกลับไปยังเฮติ ส่วน "ชะตากรรม" ของผู้อพยพอีกประมาณ 5,000 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานลาดตระเวนและควบคุมพรมแดนของสหรัฐ ( ยูเอสบีพี ) ควบคุมตัวได้นั้น "จะมีการตัดสินใจอีกครั้ง"
เจ้าหน้าที่ของสหรัฐเข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวแม่น้ำรีโอแกรนด์ ที่เมืองเดล รีโอ ในรัฐเทกซัส หลังสามารถรื้อถอนค่ายผู้อพยพชาวเฮติ และย้ายกลุ่มคนเหล่านี้ออกจากพื้นที่
ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งพร้อมใจกันประณามประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกี่ยวกับภาพที่เจ้าหน้าที่หลายคน "ทำเกินกว่าเหตุ" กับผู้อพยพ และการเนรเทศของสหรัฐซึ่ง "เกิดขึ้นทันทีทันใด" ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งในฝ่ายบริหาร เมื่อนายแดเนียล ฟุต ผู้แทนพิเศษด้านการทูตของสหรัฐประจำเฮติ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพื่อประท้วงมาตรการเนรเทศผู้อพยพชาวเฮติของรัฐบาลวอชิงตัน
ด้านไบเดนกล่าวถึงสถานการณ์ของผู้อพยพในเฮติ ว่าเขา "คือผู้รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงผู้เดียว" โดยปฏิเสธกล่าวถึงการลาออกของฟุต ที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลวอชิงตันดำเนินนโยบาย "ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม" อนึ่ง ผู้นำสหรัฐขยายระยะเวลาคุ้มครองชั่วคราวให้แก่ผู้อพยพชาวเฮติ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับวิกฤติภายรอบด้านที่เฮติกำลังเผชิญ แต่เมื่อมีการลักลอบข้ามพรมแดนมากขึ้น สหรัฐเดินหน้าผลักดันเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ต้องการให้เกิดการเลียนแบบ" หากมีการยอมรับผู้อพยพเพิ่ม.

เครดิตภาพ : AP