มัณฑนากร ป. : คุณอาหมอมาร์คคะ ช่วงนี้หนูต้องออกแบบรีโนเวทบ้านหลายหลัง ปกติทำให้สวยไม่ยากเท่าไร แต่ปีนี้ลูกค้าบอกว่าอยากได้บ้าน Low Carbon อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องนี้น้อยมาก หนูควรดูปัจจัยอะไรบ้างคะ?

หมอมาร์ค : ขอต้อนรับน้อง ป. สู่การเป็นนักออกแบบในศตวรรษที่ 21 ยุคนี้แค่สวยและตอบสนองประโยชน์ใช้สอยคงไม่พอ แต่จะต้องรักษ์โลก คาร์บอนตํ่า ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ลองหาหนังสือเกี่ยวกับ Sustainable Design อ่านดูนะคะ โดย คุณหมอจะลองแนะนำ 3 สิ่งที่กำลังมาแรง ให้ลองพิจารณาดู…

1.น้อยคือมาก (Less is More) แนวคิดนี้กำลังกลับมาฮิตใหม่อีกครั้ง โดยเป็นการออกแบบเท่าที่จำเป็น พอเพียง พอประมาณ Minimalist พื้นที่เอาแค่เหมาะสมไม่ใหญ่เกินไปก็ประหยัดงบได้ และการประหยัดวัสดุ ก็ช่วยลดคาร์บอนไประดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเลือกวัสดุที่รักษ์โลก เช่น ไม้ป่าปลูก วัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ ก็จะยิ่งลดคาร์บอนได้อีก หรือใช้เฟอร์นิเจอร์มือสองน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็นก็ยิ่งดี…เพราะเรียบง่าย โปร่งสบาย และงดงาม

2.ใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มา (Reconnecting Nature) ลองกลับไปดูธรรมชาติรอบตัว การวางอาคาร ทิศทางของแดด และลม แล้วจัดช่องเปิดต่าง ๆ ใหม่ให้รับลมธรรมชาติมากที่สุด จะได้ประหยัดแอร์ ปรับช่องแสงใหม่ รับแดดเช้าและหลบแดดบ่าย เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างด้านทิศตะวันตกและใต้ น่าจะลองดูเรื่องชายคากันแดด หรือผนังกันความร้อนก็จะช่วยประหยัดไฟ ลดคาร์บอนได้มาก ที่สำคัญหาพื้นที่รับแสงติดแผงโซลาร์ไว้ใช้ หรือเก็บไว้สำหรับไฟแสงสว่างตอนกลางคืน ก็ลดคาร์บอนได้อีก…สว่างด้วยแสงแดดและเย็นด้วยลม

3.เพิ่มพื้นที่สีเขียว (Green Everywhere) งาน Landscape จะมีความสำคัญมาก ถ้าเราเติมความเขียวเข้าไปทุกส่วนอย่างสมดุล ถ้ามีดาดฟ้าก็เปลี่ยนดาดฟ้าเป็นแปลงผัก ที่สามารถลดความร้อนได้ด้วย และยังเป็นพื้นที่อาหารปลอดสารให้ครอบครัวได้อีก แต่ถ้าไม่มีดาดฟ้า พื้นที่เล็ก ๆ หลังบ้านก็ทำแปลงผักเกษตรได้เช่นกัน แต่อย่าลืมพื้นที่แยกขยะ และทำปุ๋ยจากเศษอาหารด้วย นอกจากได้พื้นที่สีเขียวดูดคาร์บอนแล้ว ยังเป็นพื้นที่พักผ่อน สร้างกิจกรรมรักษ์โลก และผ่อนคลายลดความซึมเศร้าได้ด้วย…เปลี่ยน Waste ให้เป็น Value

น้อง ป. ลองนำไปพิจารณาดูนะคะ พร้อมลองไปหาหนังสือด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนอ่านเพิ่มเติม เพราะยุคนี้ สถาปนิกก็เป็น Super Hero ที่ช่วยกอบกู้โลกได้ เช่นกัน.