เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ว่า

ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะทำงาน ได้เสนอร่างข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาโดยมีความเห็นทำนองว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินนโยบาย Digital Wallet เพราะมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ผมมีความเห็นดังนี้

1. ข้ออ้างความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะมิได้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงและแจ้งต่อ กกต. ไว้ว่า จะใช้วิธีบริหารงบประมาณโดยจะไม่กู้เงิน ซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบายและอาจผิดกฎหมายเลือกตั้ง นั้น

เห็นว่าการที่รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 แต่คณะรัฐมนตรีไม่เคยแจ้งต่อ กกต. เพราะไม่มีหน้าที่ดังปรากฏในหน้า 4 ของคำแถลงนโยบายของ “คณะรัฐมนตรี” วันที่ 11 กันยายน 2566 เมื่อนโยบายได้แถลงต่อรัฐสภาแล้วคณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเป็นการทุจริตเชิงนโยบายตามที่ ป.ป.ช. มีความเห็น ส่วนที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะดำเนินการ ส่วน ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่

2. ข้ออ้างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นวิกฤติตามความเห็นของนักวิชาการที่ ป.ป.ช. รับฟังความคิดเห็นมา นั้น

เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าประเทศเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือไม่ จึงเป็นดุลพินิจทางบริหารของคณะรัฐมนตรีโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบกับดุลพินิจดังกล่าว หากรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะไม่ผ่านรัฐสภา ส่วน ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่และอำนาจแทรกแซงดุลพินิจทางบริหารของคณะรัฐมนตรี

3. ข้ออ้างความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย เนื่องจากการตราพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 นั้น

เห็นว่าคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเสนอร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 (1) ซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย ส่วนการวินิจฉัยและให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว สมาชิกก็ยังอาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตามมาตรา 148 (1) และหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การที่คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายยิ่งไม่อาจเป็นความผิด เพราะเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะตามกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

จึงขอเตือนความจำว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรตรวจสอบ การที่กฎหมายให้อำนาจเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายมิได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ก้าวล่วงเสนอแนะว่านโยบายใดควรทำหรือไม่ หรือมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. จึงควรปรับปรุงข้อเสนอแนะให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน ไม่เช่นนั้นข้อเสนอแนะที่อ้างว่าทำด้วยความหวังดีจะกลายเป็นการล้ำเส้นเพราะอคติแทน

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

18 มกราคม 2567