วันที่ 17 ม.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธปท.ได้ออกเกณฑ์สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้หนี้ยั่งยืน โดยธปท.จะเริ่มตรวจสอบว่าสถาบันการเงินได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือไม่

เบื้องต้นหลังปีใหม่เป็นต้นมาพบว่าบางรายไม่ทำตามหลักเกณฑ์ ยังมีข้อความโฆษณาที่ห้ามมีและไม่มีข้อความที่ให้มี จึงได้ส่งหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้ให้เร่งปรับแก้ไข และหากยังไม่ปฏิบัติตามจะเพิ่มบทลงโทษไปจนสูงสุดโทษปรับต่อไป

“หลังปีใหม่ที่มีผลบังคับใช้ เจอบางรายไม่ปฏิบัติตาม มีข้อความบนเฟซบุ๊ก ลืมเตือนข้อความที่ต้องมี และมีข้อความที่ห้ามมี จึงส่งถึงซีอีโอ และเจ้าหน้าที่ดูแล ให้แก้ไข โดยเรื่องการโฆษณาในช่วงต้นจะให้แบงก์ปรับตัว ส่งแจ้งและให้เวลาแก้ไข โดยในปีนี้ธปท.จะปูพรมตรวจสอบ”

ทั้งนี้ ธปท.ได้เริ่มดำเนินการหลายมาตรการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป เพื่อแก้หนี้ยั่งยืน และให้หนี้มีคุณภาพ เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากไตรมาส 3 ปี 66 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% ต่อจีดีพี แม้จะทยอยลดลงจากช่วงโควิดปี 64 ที่มี 94.7% เห็นสัดส่วนหนี้ลดจากจีดีพีที่เพิ่มขึ้น แต่ยอดหนี้ไม่ได้ลดลง แต่หนี้เติบโตชะลอลง โดยหนี้ใหม่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น เจ้าหนี้ต้องดูความสามารถชำระหนี้ การแก้หนี้เดิมมีคุณภาพมากขึ้น และจีดีพีฟื้นตัวตามมา

สำหรับมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน เริ่มใช้แล้ว 1 ม.ค.67 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เช่น กำกับให้โฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อโดยมีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน, ให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ, ดูแลช่วยเหลือหนี้เดิม ทั้งหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย, แจ้งข้อมูลในการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ และส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้าและส่งเสริมวินัยทางการเงิน

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ประกาศให้ธนาคารยกเลิกคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมบางรายการ ยอมรับว่ากระทบกับรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารด้วย เช่น ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณีรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก แต่สามารถห้ามคิดกับรีไฟแนนซ์หลัง 3 ปีได้ เพราะเมื่อดูแล้วพบว่าสินเชื่อบ้าน 3 ปีแรกมีลักษณะพิเศษ ดอกเบี้ยถูก เกิดจากการแข่งขันตลาดสินเชื่อบ้าน ถ้ากู้ปีแรกดอกเบี้ยปกติ การผ่อนชำระจะสูง คนซื้อบ้านไม่ง่าย

ขณะเดียวกันแก้หนี้เรื้อรัง จะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.67 โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด ให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี

นิยามลูกหนี้เรื้อรัง เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ประเภทวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน ไม่เป็นหนี้เสีย แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีหนี้นานและเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท หรือหากเป็นลูกหนี้นอนแบงก์อื่นๆ มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต เพราะมีการกำหนดชำระขั้นต่ำ จึงไม่เข้าร่วม

ขณะที่จะมีการให้ลูกหนี้ได้รับการกระตุ้นเตือนให้มีวินัยระหว่างชำระหนี้ เช่น เมื่อชำระหนี้ในโมบายแบงก์กิ้ง จะมีการตั้งค่าเริ่มต้นให้ชำระเต็มจำนวนและหากเลือกชำระที่จำนวนอื่นจะมีคำเตือนว่า จะใช้เวลาปิดจบหนี้ได้นานและมีภาระดอกเบี้ยมากกว่าชำระเต็มจำนวน เริ่มแจ้งเตือน 1 ก.ค.67

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้แก้หนี้ยั่งยืน ครอบคลุมสถาบันการเงินภายใต้กำกับดูแล ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจธนาคาร บริษัทลูกธนาคาร, นอนแบงก์ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ จำนำทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และกลุ่มซื้อหนี้ AMC รวมถึงแบงก์รัฐ แต่การกำกับดูแลแบงก์รัฐต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยธปท.ได้หารือกระทรวงการคลัง และตอนนี้ที่อยู่นอกกำกับ คือ เช่าซื้อไม่ใช่กลุ่มแบงก์ เช่าซื้อสคบ.ดูแล และสหกรณ์ เป็นต้น