จนสุดท้ายทั้ง 2 กระทรวงตั้งโต๊ะประกาศข่าวดี ประเทศไทย นับเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก พร้อมเปิดให้บริการ “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือ Utility Green Tariff (UGT) รองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน

เพราะเวลานี้หลายประเทศ เริ่มมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนกันอย่างจริงจัง อย่างสหภาพยุโรปที่มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปหรือซีแบม รวมถึงสหรัฐเองเริ่มมาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต เพราะฉะนั้นการเปิดซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้ จะช่วยปลดล็อกเงื่อนไข เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ระบุว่า ที่ผ่านมานักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คำถามแรก ๆ มักจะถามว่า ประเทศไทย มีพลังงานสะอาด หรือไฟฟ้าสีเขียว รองรับความต้องการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎกติกาโลก ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นต่อเนื่อง การประกาศความพร้อมการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” ครั้งนี้ ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน มีกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มา เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“เชื่อว่า จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่ลงทุนอยู่แล้ว และกำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้อย่างแน่นอน เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนแบบตรงประเด็น เป็นเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างมาก”

สำหรับขั้นตอนไฟฟ้าสีเขียวขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ คาดว่า ใช้เวลาไม่นานมากนัก ภายในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ จะมีความชัดเจนออกมาในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวได้ เบื้องต้นราคาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 4.55 บาท รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความสนใจใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะสามารถขอใบรับรองที่มาของพลังงานไฟฟ้าสีเขียวได้ต่อไป

ด้าน “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ขยายความว่า ไฟฟ้าสีเขียว จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี และจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการสำรวจความต้องการใช้ไฟในนิคมอุตสาหกรรม 14 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด ร่วม 60,000 โรงงาน พบว่า มีความต้องการใช้ไฟสีเขียวไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์

สำหรับขั้นตอนต่าง ๆ “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า กกพ. เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวต่อประชาชนในเดือน ม.ค. 67 จะแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ คือ ค่าไฟฟ้าปกติที่ประชาชนใช้ (ค่าไฟฟ้าฐาน+ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที) และบวกรวมค่าบริการส่วนเพิ่มอีก 0.0594 บาทต่อหน่วย

ประเภทที่ 2 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT 2) หรือผู้ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่เท่านั้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ หรือซีโอดี ในปี 68-70 ในอัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ซีโอดี COD ระหว่างปี 71-73 ในอัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย

สำหรับการซื้อไฟฟ้าสีเขียวครั้งนี้ จะเปิดใช้เฉพาะกับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น โดยใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะแบ่งเป็น กรณีใบรับรองจากการซื้อไฟฟ้าของ UGT 1 จะเป็นใบรับรองแบบปีต่อปี ที่จะออกโดยการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้ซื้อติดต่อซื้อไฟฟ้าไว้ ส่วน UGT2 จะเป็นใบรับรองระยะยาว เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหมายถึงผู้ซื้อจะใช้ราคาเดียวตลอด 10 ปี

เชื่อว่า ต่อไปหากเปิดไฟฟ้าสีเขียวอย่างเต็มระบบแล้ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับไทย รวมทั้งยังช่วยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ช่วยสุขภาพคนไทยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามการบริหารราคาค่าไฟต่อไป เพราะราคาที่ประกาศ 4.55 บาทต่อหน่วย ยังแพงกว่าราคาค่าไฟปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย.

ทำไมไทยต้องมีไฟฟ้าสีเขียว?
จากมาตรการลดภาวะโลกร้อนต่าง ๆ ของโลก เช่น ภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน และข้อกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทำให้ความต้องการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น กกพ.จึงได้กำหนดแนวทาง “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือเรียกว่า UGT (Utility Green Tariff) เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยได้ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ในราคาที่เหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรม
ไฟฟ้าสีเขียว คือะไร?
เป็นพลังงานสะอาด มีแหล่งที่มาของพลังงาน ที่มาจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตได้จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่อยู่ในรูปของแสงแดด ให้ทั้งพลังงานแสงและพลังงานความร้อน ใช้ตัวรับได้อย่างแผงโซลาร์ เข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า พลังงานลม เช่น กังหันลมเพื่อการสูบนํ้า ต่อมาได้นำโครงสร้างมาพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า พลังงานนํ้า เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของนํ้า จากที่สูงลงที่ตํ่า ที่เห็นกันบ่อย ๆ คือ การสร้างเขื่อนเก็บกักนํ้า เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า พลังงานก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายวัสดุทางชีวภาพจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส
แล้วพลังงานฟอสซิล คืออะไร?
นํ้ามันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงก่อให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดภาวะโลกร้อน เช่น ฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]