“คูดีบารี” หรือ “บ้านหลังเล็ก” มอบความหวังให้กับชาวบังกลาเทศหลายล้านคน มันคือบ้านที่สร้างบนเสาไม้ไผ่ที่ตั้งสูงเหนือนํ้าท่วม ซึ่งง่ายต่อการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยกว่าเมื่อยามจำเป็น

“คูดีบารี ช่วยชีวิตพวกเราไว้ เราไม่ต้องออกไปไหน เรานอนหลับที่ชั้นบน และผมหวังว่า พวกเราจะไม่ต้องทิ้งบ้านเมื่อนํ้าท่วมอีกต่อไป” นายอาบู ซายีด เกษตรกรวัย 40 ปี กล่าว ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในชาวบังกลาเทศนับล้านคน ที่อาศัยอยู่บนที่ราบนํ้าท่วมถึง บริเวณแม่นํ้าสายใหญ่ของประเทศ เนื่องจากดินที่อุดมสมบูรณ์นั้น ดีต่อข้าวโพดและพริกที่เขาปลูก

ตามข้อมูลขององค์กรสิทธิสิ่งแวดล้อม “เยอรมันวอทช์” บังกลาเทศถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศที่เสี่ยงต่อสภาพอากาศสุดขั้วมากที่สุด อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้น

พื้นที่ส่วนใหญ่ของบังกลาเทศประกอบด้วยสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าหลายแห่ง เนื่องจากแม่นํ้าคงคาจากเทือกเขาหิมาลัย และแม่นํ้าพรหมบุตร ค่อย ๆ ไหลผ่านประเทศลงสู่ทะเล นั่นจึงทำให้ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงของนํ้าท่วม และการย้ายผู้คนไปยังที่สูง เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แม้รัฐบาลธากา สร้างที่พักพิงที่แข็งแรงหลายพันแห่งเพื่อต้านทานไซโคลนกำลังรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งมันสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้จริง แต่ที่พักพิงเหล่านี้เหมาะสำหรับการหลบภัยในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะอุทกภัยสามารถทำให้พื้นที่มีนํ้าท่วมขังนานหลายเดือน

ด้วยเหตุนี้ นางมารินา ทาบาสซุม สถาปนิกชาวบังกลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลจากการออกแบบมัสยิดบาอิต-อูร์-รูฟ ในกรุงธากา และผู้ออกแบบอนุสาวรีย์เอกราชของประเทศ จึงทำงานเพื่อออกแบบบ้านที่มี “ต้นทุนตํ่าที่สุด” สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น จนนำมาสู่การพัฒนาที่พักพิงต้นแบบ “คูดีบารี เพื่อทดสอบมันกับนํ้าท่วมฉับพลันและลมพายุ

“มันสามารถประกอบและถอดชิ้นส่วนได้ง่ายมาก อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างระบบโมดูลาร์แบบเคลื่อนที่ ดังนั้นมันจึงเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งได้” ทาบาสซุม กล่าว และเรียกคูดีบารี ว่าเป็น “โครงการเตรียมความพร้อมด้านสภาพอากาศ” ซึ่งบ้านแต่ละหลังใช้ต้นทุนในการสร้างประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,700 บาท) และแรงงาน

ทาบาสซุม กล่าวเพิ่มเติมว่า เธอได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากบ้านไม้แบบดั้งเดิมในเทศบาลมุนสีคัญช์ ทางตอนกลางของบังกลาเทศ ซึ่งสร้างบนเสาคํ้าถ่อ เพื่อให้นํ้าท่วมไหลผ่านใต้บ้านในช่วงฤดูมรสุม

นอกจากนี้ คูดีบารีของทาบาสซุม ยังเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ดังเช่นสถาปนิกหลายคนที่ใช้โมเดลของคูดีบารี ในการสร้างศูนย์ชุมชนที่ใหญ่ขึ้น สำหรับผู้หญิงชาวโรฮีนจาในค่ายลี้ภัยของประเทศ รวมถึงการออกแบบบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย และรับมือกับนํ้าท่วมได้.

แมวแว่น