รายงานข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า จากกรณีรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ยี่ห้อ BONLUCK หรือ BLK ประสบปัญหาจอดเสีย เนื่องจากไม่มีอะไหล่ และไม่มีช่างซ่อมบำรุง หลังช่างซ่อมบำรุงต่างพากันประท้วง เนื่องจากบริษัทผู้รับจ้างไม่จ่ายค่าแรงก่อนหน้านี้นั้น ปัจจุบันรถเมล์เอ็นจีวีสีฟ้ามีจำนวน 486 คัน อยู่ในสภาพที่พร้อมให้บริการได้ประมาณ 243 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด ส่วนอีกที่เหลือ 243 คัน รอการซ่อม

จากปัญหาดังกล่าว ขสมก. แก้ไขปัญหาโดยให้เขตการเดินรถที่มี 8 เขต มีการสลับสับเปลี่ยนรถโดยสาร (รถเมล์) โดยนำรถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) สีครีมแดง และรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) ยูโรทู สีเหลือง-ส้ม มาให้บริการในบางเส้นทางแทนรถเมล์เอ็นจีวี โดยรถเมล์ที่นำมาให้บริการแทนนั้น จะเป็นเส้นทางที่มีการบรรจุจำนวนรถมากกว่าที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการเดินรถ เช่น บางเส้นทางต้องบรรจุรถขั้นต่ำ 10 คัน แต่ ขสมก. บรรจุรถขั้นต่ำไว้ที่ 15 คัน ทำให้เกินกว่าจำนวนรถขั้นต่ำ ดังนั้น จะนำจำนวนรถที่เกินมาให้บริการแทน

ที่ผ่านมา ขสมก. ส่งหนังสือถึง บริษัทคู่สัญญาที่เหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี คือ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (SCN) และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ (CHO) มาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดส่งไปอีก เพื่อเชิญให้บริษัทคู่สัญญาเหมาซ่อม เข้าประชุมร่วมกัน ในวันนี้ (16 ม.ค. 67) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีปัญหาหยุดวิ่งรถเมล์เอ็นจีวี 486 คันมาแล้ว เมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค. 66 เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาเหมาซ่อมไม่ดำเนินการซ่อมรถ ทำให้ ขสมก. นำรถเมล์ออกมาวิ่งไม่ได้ เพราะรถอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้โดยสาร เกรงว่ารถจะเกิดเสียกลางทาง สร้างผลกระทบด้านการจราจร จนเกิดความเสียหาย เดินรถไม่ได้เต็มที่ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และส่งผลกระทบประชาชนผู้ใช้บริการ ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ เพราะอาจจะเกิดปัญหารถเมล์ขาดระยะได้ในบางเส้นทาง

อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะหารือกับบริษัทคู่สัญญาที่เหมาซ่อม เพื่อสอบถามถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย ขสมก. ไปพิจารณาสัญญาว่าจะสามารถบอกเลิกสัญญาทั้งหมด หรือบอกเลิกสัญญาบางส่วน เนื่องจาก ขสมก. ได้จ้างบริษัทคู่สัญญาที่เหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวีเป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 62-ปัจจุบัน (ปี 67) ประมาณ 6 ปีแล้ว และยังเหลือสัญญาอีก 4 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 71 ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ และผลกระทบตามมาอีก

การกระทำของบริษัทคู่สัญญาเหมาซ่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา ที่ไม่สามารถซ่อมรถส่งมอบให้ ขสมก. นำมาให้บริการได้ ซึ่ง ขสมก. สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้น คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น หากบอกเลิกสัญญา ขสมก. จะหาบริษัทเหมาซ่อมรายใหม่ต่อไป เพื่อให้เกิดการเดินรถที่มีประสิทธิภาพให้บริการประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายจากกรณีที่ไม่สามารถเดินรถเมล์เอ็นจีวีได้อย่างเต็มที่ จะทำให้สูญเสียรายได้มากน้อยแค่ไหน

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการเก็บข้อมูลการเดินรถเมล์เอ็นจีวี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66 ซึ่งเป็นช่วงวันก่อนที่ ขสมก. จะหยุดวิ่งรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน พบว่า วันที่ 28 ธ.ค. 66 มีรถเมล์เอ็นจีวีออกให้บริการ 470 คัน จากจำนวนทั้งหมด 486 คัน ส่วน 16 คัน จอดซ่อมบำรุง มีรายได้รวม 1,813,449 บาท หรือเฉลี่ย 3,858 บาทต่อคันต่อวัน สำหรับรถเมล์เอ็นจีวี ค่าโดยสารราคา 15-20-25 บาทตามระยะทาง กรณีขึ้นทางด่วน ต้องจ่ายค่าทางด่วนเพิ่ม 2 บาทต่อเที่ยว

โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน วงเงินมูลค่า 4,261,452,000 บาท แบ่งเป็นค่าตัวรถรวม 1,891,452,000 บาท หรือคันละ 3,868,000 บาท และวงเงินค่าซ่อมบำรุง 2,370,000,000 บาท ระยะเวลา 10 ปี โดยค่าซ่อมปีที่ 1-5 ราคา 925 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนปีที่ 6-10 อยู่ที่ 1,730 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งคู่สัญญาจะต้องดูแลรถทั้ง 489 คันนี้ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ดีตลอด 10 ปี ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จัดพิธีลงนามสัญญาโครงการระหว่าง ขสมก. กับ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 60 และมีการส่งมอบรถเมล์ เมื่อช่วงปลายปี 61 และส่งมอบครบทั้งหมดในปี 62