เมื่อพูดถึงฝุ่นไม่ว่าจะเป็น “ฝุ่นในบ้าน” หรือ “ฝุ่นนอกบ้าน” ฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก่อนฝุ่นจะสร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ชวนตระหนักพิษภัยฝุ่น รู้จักฝุ่นละอองรอบตัว โฟกัสฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เพื่อดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ทั้งนี้นำความรู้จาก ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตให้ความรู้มองรอบด้านมลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศว่า ฝุ่นละอองที่มีอยู่ในบรรยากาศรอบตัวมีทั้งขนาดที่เล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไปถึงขนาดใหญ่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ฝุ่นละอองมีแหล่งที่มาทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กระแสลมพัดผ่านตามธรรมชาติ เช่น พัดทราย ดินฯลฯ ทำให้เกิดฝุ่น และจากกิจกรรมของมนุษย์ การคมนาคม การก่อสร้างอาคาร ทำถนน ขณะที่การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาในที่โล่งก็ทำให้เกิดฝุ่นละออง ฯลฯ

ในช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน บางช่วงเวลาสภาพอากาศปิด ฝุ่นไม่พัดลอยไป หรือหากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่ม PM2.5 ไปยังชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ในช่วงย่างเข้าฤดูหนาว นับแต่เดือนพฤศจิกายนไล่เรื่อยมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือต่อเนื่องไปในเดือนมีนาคมจะมีรายงานฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน พบได้หลายพื้นที่ หรือในหลายวันของเดือน

ฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศที่ต้องให้ความสำคัญ ส่งผลกระทบเชิงสุขภาพเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จากที่กล่าวฝุ่นละอองมีทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่รับรู้ได้ และยิ่งมีขนาดเล็กเท่าไรจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดได้ลึกขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น PM 10 อาจอยู่แค่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่ฝุ่นขนาดเล็กกว่านี้อาจเข้าไปถึงถุงลมปอดหรือเกาะสะสม ฯลฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น โดยสถานการณ์ฝุ่นในต่างประเทศเริ่มพูดถึงฝุ่น PM1.0 โดยฝุ่นยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งมีความอันตราย

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ดร.อาภา อธิบายอีกว่า ฝุ่นละอองเป็นอนุภาคที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ ฝุ่นล่องลอยอยู่ได้นานมากน้อยอย่างไรนั้นจะขึ้นอยู่กับ ขนาดของฝุ่น อย่างเช่น ฝุ่นฟุ้งที่ลอยจากรถวิ่งบนถนนที่ยังไม่ลาดยางจะเห็นว่าไม่นานฝุ่นเหล่านั้นจะตกลงพื้น ด้วยที่ฝุ่นมีขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยิ่งเล็กจะมีนํ้าหนักเบา มีความสามารถในการลอยตัวอยู่ในอากาศได้นานก่อนจะตกลงพื้น และฝุ่นที่ลอยตัวอยู่ได้นานจะไปสะสมอยู่ในอากาศที่เราหายใจ

“ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดจากการเผาไหม้เป็นหลักโดยแหล่งกำเนิดเป็นการเผาไหม้ที่มีอุณหภูมิสูง อย่างเช่นการเผาไหม้ที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ ไอเสียจากรถยนต์ ฯลฯ

ฝุ่นละอองในอากาศจากที่กล่าวข้างต้นยังมีส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น จากละอองเกสรดอกไม้ จากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือฝุ่นจากทะเลทรายเวลามีลมพายุ กระแสลมพัดผ่านก็จะนำมา ฯลฯ แต่สำหรับช่วงเวลานี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็น แหล่งกำเนิดฝุ่นที่มาจากการกระทำของมนุษย์”

ฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายระบบ แต่ที่น่าสนใจลึกไปกว่านั้น ในฝุ่นละอองมีสารใดเกาะอยู่ด้วยอีกหรือไม่ และนอกจากผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงพิษภัยฝุ่นทั้งการเสียชีวิต และอีกหลายประเด็นที่เกิดจากปัญหาฝุ่น

สำหรับ ฝุ่นในบ้าน หรือฝุ่นนอกบ้าน ดร.อาภา ให้มุมมอง ต้องให้ความสำคัญ โดยเมื่อมีความเข้มข้นจากฝุ่นละอองนอกบ้าน ก็ย่อมมีผลมาถึงในบ้านอย่างเช่นถ้าอากาศนอกบ้านไม่ดี อากาศในบ้านก็ย่อมไม่ดีด้วยเว้นแต่จะปิดหน้าต่างทุกบานไม่ให้
อากาศจากด้านนอกเข้ามาในบ้าน ฯลฯ การจัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม ทำความสะอาดบ้าน ใช้ผ้าชุบนํ้าแทนการใช้ไม้กวาดหรือการปัดฝุ่น เช็ดพัดลม ล้างมุ้งลวด หรือเช็ดทำความสะอาดซอกมุมที่จะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นในบ้านที่ทำได้ด้วยตัวเอง

การปลูกต้นไม้ ในบริเวณบ้านก็เป็นอีกส่วนหนึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่น พันธุ์ไม้หลายชนิดสามารถปลูกได้ในบ้าน อย่างเช่น พลูด่าง กวักมรกต หรือภายนอกบ้านไม่ว่าจะเป็น ต้นโมก ทองอุไร กรรณิการ์ หรือชาดัด และอีกหลายชนิดที่ช่วยดักจับฝุ่น แต่อย่างไรแล้วการแก้ปัญหาฝุ่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองซึ่งจะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน ขณะที่การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แต่ การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ต้นทางจะลดฝุ่นที่ลอยฟุ้งได้อย่างยั่งยืน

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ดร.อาภา ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่าการลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศมีรายละเอียดหลายมิติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ทิศทางลม ขนาดฝุ่น ฯลฯ แต่เมื่อจะต้องเผชิญกับฝุ่นอีกสิ่งสำคัญสำหรับตัวเราคือ การติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง การรายงานสภาพอากาศ ดัชนีคุณภาพอากาศ จากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งทำให้เตรียมตัวพร้อมรับมือฝุ่นก่อนออกจากบ้าน และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

ฝุ่นรอบตัวเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักรู้ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ใกล้ตัว ไม่เพียงเป็นมลพิษที่มีผลกระทบกับสุขภาพ แต่ยังมีผลต่อเนื่องทั้งในเชิงเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว รวมถึงความปลอดภัยบดบังทัศนวิสัย เป็นความร่วมมือต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อสร้างคุณภาพอากาศดีที่ยั่งยืน.

รู้ประเภทฝุ่น!

ฝุ่นในบ้าน
๏ จัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม ทำความสะอาดบ้าน ใช้ผ้าชุบนํ้าแทนการใช้ไม้กวาดหรือการปัดฝุ่น เช็ดพัดลม ล้างมุ้งลวด
๏ ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ปลูกในบริเวณบ้าน อาทิ พลูด่าง กวักมรกต ฯลฯ นอกบ้าน อาทิ โมก ทองอุไร กรรณิการ์ ชาดัด และอีกหลายชนิดที่ช่วยดักจับฝุ่น
ฝุ่นนอกบ้าน
ติดตามสถานการณ์ฝุ่น ดัชนีคุณภาพอากาศ ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน จากข้อมูล www.airbkk.com เช่น สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนควรระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]