เที่ยวด้วยสองเท้า ออกสำรวจย่านดังด้วยการเดิน หรือจะทุ่นแรงด้วยรถไฟฟ้าที่ขยายโครงข่ายให้เที่ยวเมืองกรุงได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ลองเปลี่ยนมาเที่ยวกรุงแบบ “กรีน” ให้ “คลีน” ตลอดเส้นทางอีกสักหน่อยด้วย “เรือไฟฟ้า” อีกพลังงานงานสะอาดที่มาตอบโจทย์นักท่องเที่ยวสายกรีน กับตัวอย่างเส้นทาง Bangkok Low Carbon Trip” ล่องคลองผดุงกรุงเกษม ชิมของอร่อยระดับตำนาน ด้วยพาหนะพลังงานสะอาด

ด้วยความที่ “คลองผดุงกรุงเกษม” คลองที่ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการขยายเมืองเนื่องจากประชาชนออกไปตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระนครกันมากขึ้น ทั้งยังเป็นแนวป้องกันพระนครอีกชั้นหนึ่ง แม้จะผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการสัญจรทางน้ำมาสู่ถนนหนทางที่สะดวกรวดเร็วกว่า จนเหลือเพียงหน้าที่ในการระบายน้ำและรับน้ำในช่วงฤดูฝน แต่เพราะศักยภาพด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน “ล้อ ราง เรือ” เส้นทางเดินเรือโดยสารไฟฟ้าตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมจึงเกิดขึ้น เชื่อมต่อได้ทั้งรถไฟใต้ดิน MRT ที่สถานีหัวลำโพง ต่อเรือโดยสารคลองแสนแสบแถวย่านตลาดโบ๊เบ๊ ต่อเรือข้ามฟากหรือเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าเรือเทเวศน์ โดยเส้นทางตั้งแต่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง-ท่าเรือตลาดเทวราช เป็นโครงการระยะที่ 2 ระยะทาง 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 11 ท่าเรือ

เริ่มเดินทางแบบรักษ์โลกด้วยการนั่งรถไฟใต้ดิน MRT ไปลงที่สถานีหัวลำโพง แล้วมุ่งหน้าไปทางออก 2 จากนั้นเดินชิล ๆ ไปยังท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพงใช้เวลาประมาณ 7 นาที เพื่อขึ้นเรือไฟฟ้าจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง หากมาในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เรือจะออกทุกชั่วโมงตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. แต่หากมาในวันจันทร์-ศุกร์ เรือจะออกทุก ๆ 20 นาที โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง เริ่ม 06.00-09.00 และ 16.00-19.00 น. ใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็จะถึงปลายทางที่ท่าเรือตลาดเทวราช

บริเวณตลาดเทวราช หรือย่านเทเวศน์เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขายตลอดสองฝั่งคลอง ไม่ว่าจะเป็นเรือค้าข้าว อิฐ ปูนขาว และกระเบื้อง ปัจจุบันคือ ตลาดรวมยาง ตลาดต้นไม้ ไปจนถึงร้านค้า ร้านอาหารมากมาย ทั้งยังมีวัดสำคัญอย่าง “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” ตั้งอยู่ด้วย พระอารามหลวงชั้นตรีแห่งนี้มีชื่อเดิมว่า “วัดสมอแครง” เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ได้ทรงสถาปนาใหม่และบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่โดยได้ทรงนำคำว่า “เทวราช” มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชรหรือกรมพระพิทักษ์เทเวศร ซึ่งเป็นผู้ทรงบูรณปฎิสังขรณ์วัดแห่งนี้มาก่อน

จุดเด่นที่สำคัญของวัดแห่งนี้ คือ เป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงพ่อดำ” หรือพระพุทธรูปปางมารวิชัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระมณฑปจตุรมุขที่สร้างครอบพระอุโบสถเก่า ภายในจัดแสดงพุทธศิลป์ เช่น พระพุทธรูปเก่าโบราณ รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุกเก่าศักดิ์สิทธิ์สมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับสายบุญและสายมูนิยมไปถวายผ้าไตรและกราบขอพรพระพุทธเทวราชปฏิมากรในพระอุโบสถ รวมทั้งไปสักการะองค์เทวราชเนรมิต หรือเทพทันใจประจำวัด ซึ่งมีความเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานอะไรมักสมหวังดังใจตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และโบราณสถาน ให้ได้เที่ยวชมด้วย จากนั้นชม “พิพิธภัณฑ์สักทอง” ที่มีเสาไม้สักขนาด 2 คนโอบ อายุเกือบ 500 ปี ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญจากศรีลังกา มีหุ่นเหมือนสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ขนาดเท่าองค์จริง 19 พระองค์

ได้มูได้ชมหนำใจแล้ว กลับลงเรือไฟฟ้าอีกครั้งเพื่อย้อนกลับไปที่ท่าเรือนครสวรรค์ ใช้เวลาเพียง 15 นาที เพื่อไปเติมพลังกับอาหารเลิศรสนานาชนิดทั้งคาว หวาน ที่ “ตลาดนางเลิ้ง 100 ปี” แบบไม่ต้องห่วงเรื่องหาที่จอดรถ หรือหวั่นเกรงว่าจอดผิดที่ผิดทางจนโดนล็อคล้อพร้อมใบสั่งแปะที่กระจก

ตลาดเก่าแก่แห่งนี้ถือเป็นตลาดบกแห่งแรกในประเทศไทย เดิมทีเป็นตลาดขายไม้เก่า หรือตลาดทำจากไม้เก่าที่มีร้านค้าอัดแน่นกันอยู่หลายร้าน แต่ภายหลังมีการบูรณะปรับปรุงพื้นที่ใหม่ จนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรวมของกิน อาหารคาวหวานและขนมที่ขึ้นชื่อต่าง ๆ อาทิ สาคูไส้หมูแม่สะอิ้ง, เป็ดพะโล้ ส.รุ่งโรจน์, ไส้กรอกปลาแนม, บะหมี่เกี๊ยวนางเลิ้ง ฯลฯ ช่วงเวลาทองที่แนะนำคือ ระหว่าง 10.00-13.30 น. ตลาดแห่งนี้จะครึกครื้นเป็นพิเศษบอกเลยว่าอาหารการกินเพียบแบบละลานตาจนเลือกไม่ถูกว่าคาวหรือหวานก่อนดี เพราะเป็นช่วงที่ร้านเริ่มเปิดพร้อมขายพร้อมกับมีผู้คนจำนวนมากพากันมาจับจ่ายซื้อหา ขอเตือนเลยว่าหากมาถึงตลาดหลัง 14.00 น. สิ่งใดที่วางแผนไว้ว่าจะมาลิ้มลองอาจจะได้เห็นแค่ตอนเจ้าของกำลังเก็บร้าน แต่จะมีบ้างบางร้านที่เปิดถึงตอนกลางคืน หรือบางร้านจะเปิดเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้นด้วย

อิ่มท้องแล้วอย่าเพิ่งรีบไปไหน แนะนำให้สักการะ “ศาลของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” หรือศาล “เสด็จเตี่ย” ที่ตั้งอยู่ในใจกลางของตลาดนางเลิ้งก่อน ว่ากันว่าที่นี่เป็นศาลอีกแห่งที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ จึงมักพบเห็นผู้คนพากันมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ใกล้กับวังเก่าของท่าน ทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานในช่วงปลายเดือนธันวาคม เพื่อให้ตรงกับวันคล้ายวันประสูติ คือ วันที่ 19 ธันวาคม ในงานจะมีการจัดแสดง งิ้ว ลิเก และมีการเซ่นไหว้

สำหรับสายคาเฟ่ชวนไปเรียกความสดชื่นก่อนจากที่ “Buddha&Pals Café & JAZZ” ใกล้ ๆ ตลาดนางเลิ้ง ก่อนล่องเรือกลับไปสถานีหัวลำโพง คาเฟ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวโบราณย่านนางเลิ้ง พร้อมพาคุณย้อนเวลาไปกับตึกแถวอันทรงคุณค่าทันทีที่เปิดประตูเข้าไป มนต์เสน่ห์ของตึกแถวโบราณอายุกว่า 80 ปีแห่งนี้ ถูกถ่ายทอดผ่านประวัติและเรื่องเล่าที่น่าสนใจของผู้เป็นเจ้าของจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ ‘ท่านหลวงสิทธื์ โยธารักษ์’ หมอยาที่มีชื่อเสียงในอดีต ผู้คิดค้นต้นกำเนิด “ยาประสระนอแรด” หรือ น้ำมันมวย ที่หลายคนคุ้นหูหรือรู้จักกันเป็นดี จากโรงงานผลิตน้ำมันมวยต่อมาอาคารหลังนี้มีการเปลี่ยนกิจการไปหลายรูปแบบ ทั้งร้านสูท ร้านเครื่องประดับ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสดี ทายาทของโรงงานน้ำมันมวยรุ่นที่ 4 และ แมค-ภีระสิทธิ์ สีมูลเสถียร จึงสานต่อการอนุรักษ์อาคารนี้ด้วยการรีโนเวทอาคารเก่าแก่ที่เจ้าของได้สิทธิ์ทำการค้าจากสำนักทรัพย์สินฯ มากว่าร้อยปีให้กลายเป็นโฮสเทล Kanvela House และร้านกาแฟ Buddha & Pals ในปัจจุบัน

จากท่าเรือนครสวรรค์ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็จะกลับมาถึงท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ขึ้นจากเรือแล้วหามุมถ่ายภาพเก๋ ๆ กับอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) อาคารอายุ 113 ปีที่สร้างขึ้นในปี 2453 ตามแบบสถาปัตยกรรม Renaissance Revival หรือยุคฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ เสร็จแล้วอย่าเพิ่งรีบกลับแวะเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย” ชั้นบนจัดแสดงพระเก้าอี้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ภาพโปสเตอร์เตือนระวังภัยในการเดินรถไฟ และมีมุมจำลองบรรยากาศเหมือนอยู่บนรถไฟ

ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในกิจการเดินรถไฟและกิจการโรงแรมรถไฟ ซึ่งเป็นของเก่าทั้งที่มีการใช้งานและบางส่วนเลิกใช้งานแล้ว เช่น จานและโถกระเบื้องในสมัยรัชการลที่ 5 เครื่องตราทางสะดวก ลูกตราและห่วงตราทางสะดวก ตั๋วรถไฟแข็ง อุปกรณ์ในการประทับวันที่ลงบนตั๋ว โคมตะเกียงให้สัญญาณ เครื่องส่งโทรเลข เครื่องพิมพ์ดีด นาฬิกาไขลาน โทรศัพท์แบบหมุน ตลอดจนม้านั่งที่ทำจากไม้หมอนปลดระวาง ใครติดใจมนต์เสน่ห์รถไฟอย่าลืมหาของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

หนึ่งวันกับการท่องเที่ยวในแบบโลวคาร์บอน ไม่ก่อมลพิษ ความสุขในแบบฉบับคนกรุงที่หาได้ไม่ยาก รับรองว่าได้ “สุขทันทีที่เที่ยวไทย” แน่นอน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร โทร. 02 410 3797 หรือติดตามที่ Facebook ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร : TAT Bangkok Office

 “Walking Bangkok” คู่มือเดินเที่ยวกรุงเทพฯ เดิน+รถ+ราง+เรือ

9 เส้นทางเดินเที่ยวกรุงเทพฯ ได้แก่
1. เส้นทางเยาวราช
2. เส้นทางกุฎีจีน คลองโอ่งอ่าง พาหุรัด
3. เส้นทางสนามไชย เสาชิงช้า สามยอด
4. เส้นทางสาทร บางรัก สีลม
5. เส้นทางตลาดน้อย
6. เส้นทางอิสรภาพ วังหลัง
7. เส้นทางนางเลิ้ง หลานหลวง
8. เส้นทางสามเสน เทเวศร์ บางลำพู
9. เส้นทางพระราม 1 สยาม ราชประสงค์

ฉบับแนะนำสายศรัทธา พาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ป๊อปปูล่า หรือที่อันซีน พาชิมของอร่อย ชวนให้ซอกแซกตามหา ท่องกรุงตามความเชื่อ เลือกชิมตามความชอบ เปิดมุมมองใหม่ในกรุงเทพฯที่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน 

เช็กข้อมูลเพิ่มเติมได้ทุกแหล่ง พร้อมกดลิงค์นำทางได้ทันที เพียงสแกน QR Code และดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล