“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุ เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาทยอยอ่อนค่าสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ก็ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจเริ่มชะลอวงเงินมาตรการ QE ในเร็วๆ นี้ (อาจเป็นเดือน พ.ย.) ขณะที่ dot plot ชุดใหม่ของเฟดบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยของสหรัฐ อาจมีการปรับขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าทดสอบแนว 33.60 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี ก่อนจะกลับมาปิดที่ระดับ 33.25 เทียบกับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์ก่อนหน้า

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 ก.ย.-1 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ส.ค. ของ ธปท.

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือน ก.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และ PCE/Core PCE Price Indices เดือน ส.ค. จีดีพีไตรมาส 2/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐ