แวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังถูกท้าทายการบริหารของแม่ทัพแบรนด์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับ ฟอร์ด ประเทศไทย ที่มีรถ 2 ประเภทคือ รถอเนกประสงค์ หรือ เอสยูวี และ รถกระบะ ที่ทำตลาดอยู่ แม้ว่าสินค้ามีน้อยแต่ “รัฐการ จูตะเสน” กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ดฯ กลับมองว่าเป็นโอกาสในการโฟกัสตลาดได้ชัดเจน จะเห็นได้จากปี 2566 ฟอร์ดสามารถปิดยอดขายสูงถึง 36,483 คัน จากตลาดรวมทั้งหมด 777,000 คัน

“ที่ผ่านมาตลาดรถกระบะตกลงมากถึง 30% เพราะความเข้มงวดของสถาบันการเงิน แต่ฟอร์ดทั้ง 2 ประเภทตกลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงชะลอการซื้อลง อย่างไรก็ตามคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโต เชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายของฟอร์ดจะกลับมาฟื้นตัวสอดคล้องกับฟอร์ดที่วางกลยุทธ์การทำตลาดที่โฟกัสเหลือไม่ถึง 12 รุ่นย่อย (จากปกติมี 24 รุ่นย่อย) หรือคัดเลือกรุ่นที่มีจุดขายโดดเด่นเท่านั้น นอกจากนี้ช่วยให้ดีลเลอร์ขายรถได้มากขึ้น และไม่ต้องแบกภาระจากการสต๊อกรถมากเกินไป พร้อมทั้งเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ๆ เพื่อรักษายอดขายให้โตต่อเนื่อง”

สำหรับยอดขายเอเวอเรสต์และเรนเจอร์เติบโตน่าพอใจโดยมีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมาเป็นเบอร์ 4 จากรถ 2 ประเภท หากแยกกระบะอย่างเดียวจะขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในปีที่ผ่านมา และว่าปีนี้ฟอร์ด วางแผนเอเวอเรสต์เติบโต มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 22% และเป็นความท้าทายของหลายคนหลายแบรนด์หลังจากเห็นยอดจองรถไฟฟ้า (อีวี) ที่เพิ่มขึ้นมากในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปว่าจากนี้ธุรกิจรถยนต์สันดาปจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ผมเห็นว่า

เทรนด์รถอีวีมาแรง แต่ในเมืองจีนซึ่งผลิตรถปีละ 15 ล้านคัน โดยรถอีวีมีแค่ 4.5 ล้านคัน จากผู้ผลิตรถอีวี 400 ราย แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 100 รายเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่เปลี่ยนเร็ว เช่น ทำให้ชาร์จเร็ว วิ่งได้ระยะทางไกล เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟอร์ดไม่ประมาท  ปี 2567 ค่ายรถยังถูกท้าทายจากหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจ กำลังซื้อ คู่แข่ง กระแสรถอีวี ที่ฟอร์ดต้องเดินเกมเพื่อสร้างทุกโอกาสให้บรรลุเป้าหมาย.