นี่คือบริบทปัจจุบันที่ผู้ใหญ่คาดหวังต่อเด็ก ๆ ซึ่งเคยมีสำนักโพลทำการสำรวจว่า เด็ก ๆ ชอบคำขวัญปีไหนมากที่สุด ปรากฏ 89.6% เป็นคำขวัญวันเด็กปี พ.ศ. 2516 คือ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” ถ้าคิดให้ลึกจะพบว่า 50 ปีผ่านไป สังคมเปลี่ยนไปแค่ไหน และผู้ใหญ่มีความคาดหวังต่อเด็กต่างกันอย่างไร

ในวันเด็กของทุก ๆ ปี ผู้ใหญ่ใจดีเตรียมจัดงานวันเด็กให้น้อง ๆ มีความสุข เคยฟังเสียงเด็ก ๆ บ้างไหมว่าพวกเขาสะท้อนความคิดเห็นอย่างไร เด็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานในสถานที่ราชการที่สำคัญตื่นเต้นมาก เขาบอกว่า “อยากมาเที่ยวทำเนียบ และสถานที่สำคัญบ่อย ๆ วันเด็กมีคนเยอะ แออัดมาก ต้องรีบชม ไม่ทันฟังเรื่องราวสำคัญเลย” ก็จริงของเด็กที่อยากมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ได้มากกว่าวันเด็ก ส่วนน้องนางรำจากโรงเรียนแห่งหนึ่งบอกว่า “วันเด็กคุณครูให้รีบมาโรงเรียนแต่เช้า มาแต่งหน้าทำผมทรงเครื่องรำละคร แล้วก็นั่งรอผู้ใหญ่ที่เป็นประธานมา ท่านมาชมแป๊บเดียว มาถ่ายรูปไปลงข่าว แล้วก็รีบกลับ โดยไม่ถามหนูเลยว่ารำอะไร ซ้อมมาลำบากแค่ไหน” ซึ่งที่จริงเราเคยถามเด็กบ้างไหมว่า เค้าอยากแสดงหรือเปล่า? ขณะที่น้องในโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่งบอกว่า “ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่นำอาหารอย่างดีมาเลี้ยง แต่พวกหนูอยากมีอาหารอร่อยทานทุกวัน พอพี่ ๆ ไป พวกหนูก็อดอยากเหมือนเดิม” เรื่องคุณภาพของอาหารในโรงเรียนยากจนก็ยังเป็นปัญหาคลาสสิกที่ต้องหาทางแก้กันต่อไป และถ้าเปิดใจฟังว่าเด็กต้องการอะไร กิจกรรมวันเด็กก็คงแตกต่างจากที่เราเห็นมาก

สำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานกับเด็ก องค์กร Unicef มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิเด็กสำหรับภาคธุรกิจที่เรียกว่า “Children’s Right and Business Principles” ที่เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ. 2010 ซึ่งองค์กรชั้นนำใช้เป็นแนวทางในการทำงานกับเด็กและเยาวชน โดยหลักการนี้ว่าด้วยความอยู่รอดและพัฒนาการของเด็ก การมีส่วนร่วม และการให้ความสำคัญต่อความสนใจของเด็กในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงความเท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ ซึ่งแค่เริ่มฟังน้อง ๆ ให้พวกเขาได้ร่วมคิด ร่วมจัดงานก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ทุก ๆ วันเป็นวันเด็กดี…เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ.