และนำบทความไปบอกเจ้านายว่ามีคนทำเรื่องดี ๆ แบบนี้ องค์กรเราน่าจะทำบ้าง โดยในปีที่ผ่านมาเราเขียนบทความเจาะลึกเรื่องราวความยั่งยืนใน SDG ทั้ง 17 ข้อไปกว่า 300 บทความ และมีข่าวที่องค์กรต่าง ๆ ส่งมาให้ช่วยประชาสัมพันธ์อีกจำนวนมาก

ผมสังเกตว่าสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ อยากเล่า อยากประชาสัมพันธ์ กับสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ อยากอ่านยังไม่ค่อยสัมพันธ์กันดูจากฟีดแบ็กผู้อ่านเดลินิวส์ที่ส่วนใหญ่อยากรู้เรื่องอะไร เผื่อองค์กรต่าง ๆ จะสื่อสารให้ตรงใจผู้อ่าน

1.อากาศ ช่วงต้นปี เมื่อมองไปรอบ ๆ ดูเบลอ ๆ ไม่แน่ใจเป็นหมอก หรือฝุ่น PM 2.5 ที่ขึ้นตัวแดงทุกเขต ชาวบ้านสนใจว่าเขาจะหายใจอย่างปลอดภัยได้อย่างไร องค์กรใดจะช่วยแก้ปัญหานี้บ้าง เช่น นวัตกรรมที่ช่วยลดการเผาป่า หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อลดฝุ่นในเมือง จากการก่อสร้าง การเดินทาง หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม

2.นํ้า ช่วงต้นปีเช่นกัน นอกจากปัญหาฝุ่นควันในอากาศ ตามมาด้วยปัญหาภัยแล้ง นํ้าทะเลดันขึ้นสูง นํ้าประปามีรสเค็มจนกระทบกับโรคไตของผู้คนจำนวนมาก ถ้ามีคำเตือน-คำแนะนำเรื่องนํ้าดื่มที่ปลอดภัย ราคาประหยัด จะมีผู้สนใจฟังมาก โดยเฉพาะปีนี้ El Nino ผู้คนคงอยากฟังเรื่องการจัดการนํ้ามาก-นํ้าน้อยตลอดทั้งปี

3.เศรษฐกิจ Soft Power ในยามเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนคงอยากรู้ว่ามีโอกาสใหม่ ๆ อะไรเกี่ยวกับความยั่งยืนบ้าง เช่นการท่องเที่ยวชุมชนคาร์บอนเป็นศูนย์ เทรนด์สินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนอะไรจะมา และต้องเตรียมตัวหาเงินกับเทรนด์นี้อย่างไร หรือต้องติดต่อหน่วยงานใด และมีใครช่วยได้บ้าง

4.เงินทุน สำหรับผู้ที่มีเงินจำกัด พอจะเริ่มทำกิจการเพื่อสังคม ชาวบ้านจะสนใจว่ามีแหล่งทุนสนับสนุนที่ไหนบ้าง มีข้อแม้อย่างไร มีแบบให้เปล่าหรือเงินยืมระยะยาว ดอกเบี้ยตํ่า หรือมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงให้ไหม และอยากทราบว่าจะเข้าหาแหล่งทุนนั้นได้อย่างไร

5.การลงทุน สำหรับผู้ที่มีเงินออมและอยากลงทุน ตอนนี้เขาสนใจอยากฟังเรื่องบริษัทที่ยั่งยืน การลงทุนที่ปลอดภัย เชื่อถือได้มีธรรมาภิบาล และตอนนี้ก็ยิ่งสนใจเรื่อง ESG Environment Social Governance ที่บริษัททำ

6.รักษ์โลก ด้วยวิถีชีวิตใหม่ คนชอบอ่านวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การรับประทานแบบไร้ขยะ งานแต่งงานแบบมินิมอล งานศพรักษ์โลก เทคนิคแยกขยะ การใช้ของอย่างคุ้มค่า สถานที่นำของไปบริจาคเพื่อ recycle เพื่อเปลี่ยน waste เป็น value นอกจากเขาจะช่วยโลกแล้ว บางกรณียังได้เงินกลับมา หรือเป็นแต้มไปแลกของได้อีก

7.ท่องเที่ยวยั่งยืน สำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยว เขาต้องไปแบบรักษ์โลก คาร์บอนเป็นศูนย์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตท้องถิ่นว่ามีที่ไหนบ้าง มีคำแนะนำอย่างไร มีองค์กรไหนสนับสนุนบ้าง

8.คนรุ่นใหม่ที่เป็นประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 เขาสนใจเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างหลากหลาย เขารู้ว่า AI และหุ่นยนต์จะเป็นภัยคุกคาม และอาจจะมีอีกหลายเรื่องที่ดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์เพ้อฝัน แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดกับเราในไม่ช้า

9.ภัยสงคราม ปีนี้ทุกคนสนใจผลกระทบจากความขัดแย้ง-ภัยสงคราม เป็นห่วงว่าจะขยายวงไปไกลแค่ไหน จะมีผล
กระทบอะไรบ้างกับเขา แหล่งผลิตสินค้าและบริการจะถูกทำลายไหม การขนส่งลำเลียงสินค้าในโลกจะกระทบกระเทือนแค่ไหน หรืออะไรจะขาดแคลน และเขาต้องเตรียมความพร้อมรับมือผล
กระทบอย่างไร

10.ผลกระทบจากภาวะโลกเดือด เรื่องนี้มีคนสนใจมากที่สุดเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว ที่จะมีความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุใหญ่ นํ้าท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า โรคระบาด โดยเขาต้องเตรียมรับมือหายนะเหล่านี้อย่างไร และปีนี้จะเกิดมากขึ้นหนักขึ้นหรือไม่ หรือหลายคนสนใจเทคนิคการใช้ชีวิตให้ได้ด้วยการไม่ปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 2 ตันต่อปี เพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาฯ ที่จะนำไปสู่หายนะเหมือนการก้าวเข้าไปในขุมนรกอเวจี

ตอนนี้รู้เรื่องสิ่งที่ชาวบ้านแบบเรา ๆ สนใจกันแล้วนะครับ ผู้อ่านสนใจสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเขา นักสื่อสารความยั่งยืนควรปรับตัวในการส่งข่าว หรือจัดกิจกรรมอย่างไร เพราะผู้อ่านไม่ค่อยสนใจอ่านข่าวแจก มันเหมือนอ่านโฆษณา หรืออาจแปลความเป็นการฟอกเขียวได้ เขาอยากอ่านบทความเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน “Media for Change”.