นายทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ในปี 2566  เป็นปีแห่งความตึงเครียดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีปัจจัยรอบด้านที่กระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจมาสด้าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดรวมถึงกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเร็วขึ้น การเข้ามาทำตลาดของแบรนด์ใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงกับมาสด้าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่ในปัจจุบันไปสู่พลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ แต่ถือว่ามาสด้าทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ มาสด้าพร้อมแปรสภาพความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นให้กลายเป็นความเข้มแข็ง เชื่อว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันที่ดีกว่านี้

ในปี 2566 ที่ผ่านมา มาสด้ามียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 16,544 คัน แบ่งออกเป็น รถยนต์นั่งจำนวน 8,718 คัน ประกอบด้วย มาสด้า2 จำนวน 7,834 คัน และมาสด้า3 จำนวน 884 คัน รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวี จำนวน 6,981 แบ่งออกเป็น มาสด้า CX-30 จำนวน 3,254 คัน, มาสด้า CX-3 จำนวน 2,389 คัน, มาสด้า CX-8 จำนวน 999 คัน และมาสด้า CX-5 จำนวน 340 คัน รถปิกอัพ มาสด้า บีที-50 จำนวน 834 คัน และรถสปอร์ตเปิดประทุน มาสด้า MX-5 จำนวน 10 คัน ส่วนรถยนต์นั่งสุดหรู มาสด้า6 รุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 20 ปี ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากมีลูกค้าจองสิทธิ์เข้ามาแล้วกว่า 74 คัน จากจำนวนทั้งหมด 100 คัน

“แม้ว่ายอดขายมาสด้าจะปรับตัวลดลง แต่ในปีที่ผ่านมา มาสด้ายังประสบความสำเร็จในด้านการบริการหลังการขาย อันเป็นผลพวงจากการดำเนินธุรกิจภายใต้ Retention Business Model มีลูกค้ากลับเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง และทำให้ผู้จำหน่ายมีผลกำไรแม้จะอยู่ในสภาวะตลาดชะลอตัว ไม่เพียงเท่านี้ มาสด้ายังสามารถรักษาสัดส่วนการจำหน่ายอะไหล่ไว้ได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดเก็บสต๊อกอะไหล่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกับปริมาณลูกค้าที่จะเข้ามารับบริการและรองรับต่อความต้องการในอนาคต จึงสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ด้วยบริการที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้แบรนด์มาสด้าในไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความสำเร็จจากแผนการดำเนินงานภายใต้โมเดลธุรกิจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักอย่างชัดเจน กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มาสด้าเชื่อว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 750,000–800,000 คัน หรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของมาสด้าคาดว่าจะเติบโตเช่นเดียวกัน เนื่องจากฐานลูกค้าที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มโอกาสในการขายรถใหม่มากขึ้น

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาสด้า เริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือมาก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่งด้วย Customer Experience Management (CXM) หรือการจัดการประสบการณ์ลูกค้า เน้นสร้างความพึงพอใจสูงสุดเพื่อสร้างรากฐานให้มั่นคง รวมถึงมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ Brand Value Management (BVM) หรือ การสร้างมูลค่าของแบรนด์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับกลยุทธ์ด้านต่างๆ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ ปรับองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และครอบคลุมยิ่งขึ้นการตลาดยุคดิจิทัลเน้นสื่อสารกับลูกค้าสร้างความประทับใจ: ยกระดับการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ฟังเสียงของลูกค้ามากขึ้น รักษาฐานลูกค้าเก่าและดึงลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าปัจจุบัน เอาใจใส่ดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัว ธุรกิจของผู้จำหน่ายต้องเติบโตอย่างยั่งยืน