อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิด ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าว ไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป
คณะกรรมการนโยบายการเงินที่ คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน รวม 7 คน
รายชื่อคณะกรรมการ กนง. ได้แก่
1. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ
2. นางอลิศรา มหาสันทนะ รองประธานกรรมการ
3. นางรุ่ง มัลลิกะมาส กรรมการ
4. นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน กรรมการ
5. นายรพี สุจริตกุล กรรมการ
6. นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการ
7. นายสันติธาร เสถียรไทย กรรมการ
จำนวนกรรมการทั้งหมด 7 คน มีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท. นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คน เป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ดังนี้
1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ธปท. ฉบับใหม่ กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้น ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุก 6 เดือน
ความถี่ในการจัดประชุมประมาณทุก 7-10 สัปดาห์ (ปีละ 6 ครั้ง) กนง. จะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม
ในการประชุม คณะเลขานุการจะรายงานข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ และการผลิต ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบราคาสินค้า อาทิ ราคาน้ำมันโลก นโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ หรือราคาสินค้าเกษตรโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ กนง. หารือถึงความเป็นไปได้ในการประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 8 ม.ค. 67)