นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและนโยบายสาธารณสาธารณะ กูเกิล ประเทศไทย  เปิดเผยว่า กูเกิลร่วมกับ นีลเส็นไอคิว เผยผลการวิจัยพฤติกรรมออนไลน์ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในไทย ซึ่งเนื้อหาครอบคลุมถึงการรับรู้ความเสี่ยง ทางออนไลน์ของกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตช่วงวัยต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัยรุ่นไทยนิยมใช้งาน โซเซียลมีเดีย รวมถึงมีการเล่นเกมออนไลน์สูง ชอปปิง ส่งข้อความ อ่านนิยายออนไลน์ ติดตามดาราไทย และศิลปินเคป๊อป  ส่งผลให้มีความเสี่ยงทางออนไลน์สูง โดยวัยรุ่นไทยให้ข้อมูลว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการแฮ็กมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้งานโซเชียลมีเดียและเกมออนไลน์สูง การสูญเสียการเข้าถึงบัญชีหรือการที่ แฮกเกอร์นำบัญชีของตน ไปใช้ในทางที่ผิดถือเป็นปัญหาใหญ่

ขณะที่ในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอาศัยอยู่ในกรุงเทพ มีการใช้อีคอมเมิร์ซสูง ส่วนผู้ใหญ่ในภูมิภาค เช่น ขอนแก่นและหาดใหญ่ ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดิจิทัล ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องการรั่วไหล ของข้อมูลส่วนบุคคล จึงพยายามจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ รวมถึง ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เนื้อหาออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ข่าวปลอม ทั้งนี้กลุ่มผู้ปกครองรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของการกล้าแสดงออกผ่านทางออนไลน์ รวมไปถึงภาพลามกอนาจาร หัวข้อ แอลจีบีทีคิว(LGBTQ) และการมีส่วนร่วมของบุตรหลานในการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค วัยรุ่นไทย บอกว่าสามารถกำหนดเวลาออนไลน์ของตนได้ดี และสามารถแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และยังหาเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ได้อีกด้วย

นายจิระวัฒน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มวัยรุ่นเผชิญกับความเสี่ยงทางออนไลน์ด้วยความรู้ความเข้าใจที่จำกัด ในขณะที่ผู้ใหญ่ มีการวางกลยุทธ์หลีกเลี่ยงภัยคุกคามต่างๆ กูเกิลในฐานที่เป็นแพลคฟอร์มที่ให้บริการทางออนไลน์ มีผลิตภัณฑ์และ มีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ แต่ ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเพื่อช่วยให้ ทุกคนสามารถ ใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ในโลกออนไลน์ โดยได้จัดงาน“Tech Talks: Digital Responsibility” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้กำหนด นโยบายต่างๆ เพื่อนำข้อมูลวิจัยมาร่วมหารือเกี่ยวกับความสำคัญของความรับผิดชอบและวิธีที่จะช่วยให้คนไทยทำสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

“เด็กไทยมีการออนไลน์ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน การจะทำให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย นอกจากทัศนัคติของผู้ใช้งานแล้ว ยังต้องประกอบด้วย 3  ส่วน คือ ต้องมีการตระหนักรู้ มีทักษะที่เหมาะสม และการจัดให้มีเทคโนโนโลยีที่เอื้อ ให้ผู้ใช้สามารถปกป้องดูแลตัวเองได้”