ซึ่งคนเมืองแบบผมมักจะปล่อยคาร์บอนราว 6-10 ตันต่อปี โดยถ้าเราไม่รีบฝึกใช้ชีวิตด้วยการปล่อยคาร์บอนให้ตํ่ากว่า 2 ตัน โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสในไม่ช้า ซึ่งนั่นคือหายนะ และระหว่างที่ผมง่วนอยู่กับแอป NetZero Man เพื่อคำนวณคาร์บอนอยู่ ก็มีสายโทรฯ เข้าจากนักวิจัยสาวสวยที่ซ่อนความงามอยู่หลังแว่นตาเนิร์ดนักวิชาการ โดยเธอบอกว่าอยากเชิญให้ไปเที่ยวด้วยกันที่ภูเก็ตและพังงาเพื่อโชว์ผลงานวิจัย “การท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์” ดำเนินการโดย บพข. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถความแข่งขันของประเทศ ที่สนับสนุนโดย สกสว. หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวง อว. ผมจึงเรียนนักวิจัยสาวสวยว่า ผมไม่ไปดีกว่า เพราะตอนนี้คาร์บอนผมตึง ๆ ที่ 2 ตัน หรือถ้าต้องไปจริง ๆ ให้เอาเรือใบมารับดีกว่า เธอบอกว่าไม่ต้องกังวล สัญญาว่าคาร์บอนเป็นศูนย์จริง ๆ แต่จะเฉลยความลับให้ทราบตอนจบทริป ด้วยความสงสัยผมรีบเก็บกระเป๋าทันที ซึ่งระหว่างทางผมค่อย ๆ อ่านคำแนะนำการปฏิบัติตัวแบบรักษ์โลกที่ยาวหลายหน้าตามสไตล์นักวิชาการ เช่น จัดกระเป๋าเดินทางแบบมินิมอล งดพลาสติกใช้ครั้งเดียว เตรียมถุงผ้ากับกระติกนํ้าส่วนตัว ทานอาหารให้พอดี เตรียมเครื่องแต่งกายไปปลูกป่าโกงกางกับปลูกหญ้าทะเลเพื่อดูดซับคาร์บอน

เมื่อถึงภูเก็ต ผมนึกว่านักวิจัยสาวจะชวนผมมาเที่ยวกัน 2 คน แต่นี่มีรถตู้มารอ 7-8 คัน ผมถามว่ารถไฟฟ้าไม่มีหรือไง นักอนุรักษ์หนุ่มที่มากับทีมนักวิจัยบอกว่าเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทั้งเครื่องบินและรถตู้จะทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างไร นักอนุรักษ์ผู้นี้ได้ร่วมพัฒนาแอปชดเชยคาร์บอน Zero Carbon ซึ่งเป็นแอปที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนิยมใช้กันมาก และที่ภูเก็ต นักวิจัยสาวได้พาชมการท่องเที่ยวชุมชนวิถีเกษตร ร่วมทำกิจกรรมในสวนผักปลอดสาร สาธิตการจัด Chef Table ตามด้วยกิจกรรมเก็บสับปะรดจากไร่แล้วมาคั้นเป็นนํ้าซึ่งหวานฉํ่าอร่อยมาก ตามด้วยการชมวิธีเก็บมะพร้าวนํ้าหอมแบบดั้งเดิม กับชิมขนมพื้นเมืองทำจากมะพร้าว ที่นับเป็น Soft Power ชุมชนซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ แต่ผมยังคงสงสัยว่าดูแล้วยังไม่น่าคาร์บอนเป็นศูนย์ นักวิจัยสาวบอกว่าอย่าเพิ่งรีบถาม ค่อย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ ก่อน และเดี๋ยวบ่ายเราจะไปปลูกหญ้าทะเลเพื่อชดเชยคาร์บอนกัน

วันต่อมา ผมถูกปลุกแต่เช้าเพื่อไปทดลองขี่จักรยานไฟฟ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในการท่องเที่ยวรอบเมืองเก่าภูเก็ต ผมสังเกตว่าภูเก็ตจะเป็นเมือง Low Carbon ได้อย่างไร ถ้ายังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นไฟฟ้า จากสนามบินเข้ามาตัวเมืองและหาดต่าง ๆ ก็ยังไม่มีขนส่งมวลชนคาร์บอนตํ่า การริเริ่มเส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานนี้ แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ก็สามารถจุดประกายความคิดรักษ์โลกได้ ระหว่างขี่จักรยานไปรอบ ๆ เมือง ผมได้ชมพิพิธภัณฑ์ชุมชน ได้แวะชมบ้านเก่าสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียนที่มีเอกลักษณ์งดงามข้ามกาลเวลา ได้รับฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตระกูลต่าง ๆ ได้ชิมขนมพื้นเมืองทำมือเคล้าเสียงขับกล่อมเพลงจีนจากเจ้าของบ้าน ได้เดินเข้า-ออกบ้านเก่าที่มีคุณค่าหลายหลัง จนไปจบที่สวนหลังบ้านแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของบ้านเตรียมอาหารแบบคาร์บอนตํ่าไว้ให้ลอง ที่ว่าคาร์บอนตํ่าคือวัตถุดิบอาหารทั้งหมดผลิตในท้องถิ่น ไม่ต้องเดินทางไกล อีกทั้งอาหารหลายชนิดมี GI (Geographic Indication) ระบุแหล่งผลิตที่มีคุณภาพที่ภูเก็ต ลดเมนูที่มาจากเนื้อสัตว์ที่มีคาร์บอนสูง ที่สำคัญต้องอร่อยและหลากหลายสไตล์ Gastronomy

เมื่ออิ่มท้องแล้วก็ถึงเวลาไปเรียนรู้ที่ “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวหาดไม้ขาว” ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกับเครื่องบินที่บินผ่านทะเลลงรันเวย์ได้แบบใกล้ ๆ ที่นี่เราสามารถชิมอาหารพื้นเมือง พร้อมกับทำสปาฝังทรายที่ว่ากันว่าช่วยบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้น่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนได้เล่าเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลที่เคยหายไปจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ริมหาด ซึ่งผมได้เล่าเบื้องหลังให้ชาวบ้านฟังว่า เมื่อหลายปีก่อนกลุ่มบริษัท Minor ซึ่งสร้างโรงแรมที่หาดนี้ ร่วมกับองค์กร IUCN ได้ทำงานวิจัยเพื่อนำเต่าทะเลที่หายไปจากหาดนี้กลับมา โดยเต่าทะเลมักมาวางไข่ที่ชายหาดช่วงปลายปี แต่ถ้าเต่าเห็นแสงไฟ เต่าก็จะคิดว่าไม่ปลอดภัยและมักเปลี่ยนทิศไปวางไข่ในหาดที่มืดสนิท จึงได้ชวนโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ดับไฟช่วงกลางคืน พอเต่ากลับมาวางไข่ ก็ตั้งคณะอาสาสมัครคอยพิทักษ์ไข่เต่าเพื่อกันคนมาขโมย เมื่อเต่าฟักไข่ก็นำมาอนุบาลให้แข็งแรง และมีกิจกรรมปล่อยเต่าลงทะเลที่หาดไม้ขาวนี้ เต่าทะเลเป็นสัตว์ที่อัศจรรย์ เมื่อเขาลงทะเลที่หาดใด เขาจะจำได้ แต่ละตัวจะใช้ชีวิตในอันดามันราวสองปี พอโตได้ที่พร้อมวางไข่ ก็จะกลับมาวางไข่ที่หาดเดิมที่เขาถูกปล่อยลงทะเลเมื่อตอนเล็ก ๆ ทุกปีในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีการจัดงานวิ่งการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเต่าทะเล โดยมูลนิธิเต่าทะเลหาดไม้ขาว ซึ่งหากสนใจสนับสนุนก็ลองติดต่อมูลนิธินะครับ

วันสุดท้าย นักวิจัยสาวพาผมข้ามไปที่ จ.กระบี่ เพื่อชมนวัตกรรมการท่องเที่ยวยั่งยืนทางทะเลที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่หาดไร่เลย์ โดยผู้ประกอบการจะได้รับการอบรมเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ในการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น อาหารคาร์บอนตํ่า ภาชนะใส่อาหารรักษ์โลก การจัดการพลาสติกใช้ครั้งเดียวไม่ให้เป็นขยะทะเล การเดินเรือที่มีความเร็วเหมาะสมไม่เพิ่มคาร์บอน การแนะนำความรู้เรื่องระบบนิเวศใต้ทะเล และการท่องเที่ยวที่ไม่ไปรบกวนธรรมชาติ ที่แม้แต่การทาครีมกันแดดก็ต้องรักษ์โลกด้วย โดยการท่องเที่ยวแบบนี้จะถูกชดเชยด้วยระบบ Blue Carbon เพื่อไปปลูกป่าชายเลน หญ้าทะเล และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เป็น Nature Based Solution นักวิจัยบอกว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวเกาะต่าง ๆ ของ จ.กระบี่ พร้อมชมทะเลแหวกได้อย่างไร้คาร์บอน โดยสามารถติดต่อผู้ประกอบการที่ได้รับการอบรมแล้ว และก่อนกลับ นักวิจัยสาวยังพาผมไปลองทำผ้าย้อมครามกับชุมชนริมป่าชายเลน พร้อมทดลองนวดสปาในแพ ซึ่งผมบอกคุณป้าที่นวดผมว่า ถ้าจัดแพส่วนตัวค่อย ๆ ลอยช้า ๆ ไปตามลำคลองริมป่าชายเลนแล้วนวดไปเรื่อย ๆ ผมว่าน่าจะได้ทั้งความผ่อนคลายและออกซิเจน แถมได้ตระหนักถึงการปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างที่กำลังผ่อนคลายไปกับการนวดเส้นของคุณป้าอยู่นั้น ผมฉุกคิดได้ว่ายังไม่ได้คำตอบเลยว่าที่บินมาทำกิจกรรมมากมาย แล้วคาร์บอนจะเป็นศูนย์ได้อย่างไร ผมจึงหันไปถามนักอนุรักษ์ TEATA ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า สรุปว่าตั้งแต่ต้นถึงตอนนี้ ผมปล่อยคาร์บอนไปกี่กิโลแล้ว นักอนุรักษ์งัวเงียหยิบมือถือขึ้นมา เปิดแอป Zero Carbon แล้วใส่กิจกรรมและวิธีเดินทางของคณะทั้งหมดเข้าไป ผลปรากฏว่าทั้งคณะปล่อยคาร์บอนไป 11.32 ตัน ตกเฉลี่ยคนละราว 0.24 ตัน ผมหันไปโวยวายกับนักวิจัยสาวที่ชวนมาว่า ไหนบอกว่าคาร์บอนเป็นศูนย์ไง ถ้ารวมการมาเที่ยวครั้งนี้ คาร์บอนผมจะทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 2 ตันต่อปี นักวิจัยสาวยิ้มหวานแล้วบอกว่า คาดไว้แล้วว่าผมจะอารมณ์เสียที่ปล่อยคาร์บอนเกินเป้า จึงขอเฉลยตอนท้ายว่า ทีมงานวิจัยได้ทำการชดเชยคาร์บอนให้ทุกคนในคณะแล้วรวม 12 ตัน จึงถือว่าผมมีคาร์บอนติดลบเล็กน้อย และขอเชิญร่วมรับประกาศเกียรติคุณจาก อบก. หรือองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกด้วย ผมจึงได้รับคำตอบที่สงสัยแล้วว่า ท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างไร? 1.ลด ผู้ประกอบการสายท่องเที่ยวทั้งหมดต้องให้ความสำคัญกับการปลดปล่อยคาร์บอน โดยต้องพยายามลดคาร์บอนในทุกรายละเอียด ต้องคำนวณคาร์บอนในกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ ซึ่งตอนนี้มีแอป Zero Carbon ที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน 2.ชดเชย ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีโครงการชดเชยด้วยธรรมชาติและนวัตกรรม 3.ตระหนักรู้ นักท่องเที่ยวต้องใส่ใจรู้การปลดปล่อยคาร์บอนของตนเอง และควบคุมไม่ให้เกินคนละ 2 ตันต่อปี

ผมสบายใจแล้วที่สามารถท่องเที่ยวและไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ที่จะเข้าสู่หายนะสุดขั้ว ว่าแล้วหันไปชวนนักอนุรักษ์กับนักวิจัยสาวสวยว่าเราไปฉลองกันดีกว่า บาร์รักษ์โลกตอนนี้เปิดถึงตีสี่นะครับ นักวิจัยพอจะมีรายการบาร์ที่คาร์บอนเป็นศูนย์ให้ไปดูกิจการบ้างไหมครับ.