ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคใหญ่ที่มีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ หากยังไม่ร่วมกับลดปัญหาอย่างจริงจัง ทุกอย่างอาจ “สาย” เกินกว่าจะแก้ไข

รายการ Sustainable daily ออกอากาศทางช่องทาง Dailynewsonline ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) องค์กรที่ดูแลภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ทั่วประเทศ ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ถึงมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย ในภาวะหมดยุค “โลกร้อน” (Global warming) ก้าวเข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด” (global boiling) ตามประกาศเตือนขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดย “เกรียงไกร” ระบุว่า ความเป็นจริงก่อนถึงยุคโลกเดือด ภาคอุตสาหกรรมไทยประสบกับความท้าทายเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยเฉพาะกระแสท้าทายแรก คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิทัลที่เข้ามาดิสรัปชั่นอุตสาหกรรมดั้งเดิม อุตสาหกรรมที่เรามีในโลกถูกดิสรัปชั่นทีละอุตสาหกรรม

“วันนั้นทั่วโลก รวมทั้ง ส.อ.ท. ต้องปรับตัว ที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้สามารถเป็นไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งมีอายุเป็น 100 ปีมีมาร์เก็ตแชร์หรือยอดขายถล่มทลาย หรือมีกำไรในอดีตตลอด พอเจอกระแสของดิจิทัลมาดิสรัปชั่น ที่รุนแรงและถ้าเกิดคนปรับตัวไม่ทัน บริษัทขนาดใหญ่ของโลก เช่น โกดักส์ ก็ต้องล้ม”

กระแสที่สองคือความท้าทาย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 อันดับ 2 ของโลก ระหว่างสหรัฐ และจีน ที่ประกาศสงครามการค้าที่เป็นการส่งสัญญาณแตกหักว่า วันนี้โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จากคำว่า โลกาภิวัตน์ ที่โลกมีการเชื่อมต่อระหว่างกัน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเกิดการแบ่งขั้ว และอีกคำ คือ การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน ที่แยกข้างแยกขั้ว แยกเทคโนโลยี แยกซัพพลายเชนชัดเจน ซึ่งในฐานะประเทศไทย ที่สองประเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และอันดับ 2 ของเรา และประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในการส่งสินค้าให้กับ 2 ประเทศ กลายเป็นว่า เราถูกบังคับให้เลือกข้างว่า จะเลือกอยู่ข้างใคร และใช้เทคโนโลยีของค่ายใด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นและกระแสนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่การค้า แต่จะรวมถึงสงครามเทคโนโลยี (เทควอร์) สงครามการเงิน (ไฟแนนซ์เชียลวอร์) และเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแฝงกันไปหมด กลายเป็นสงครามทางเศรษฐกิจ

กระแสท้าทายที่สามที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องที่ 1 และเรื่องที่ 2 จะได้รับผลกระทบบางอุตสาหกรรม แต่เรื่อง climate change เป็นเรื่องของมนุษย์ 8,000 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบหมด ต้องยอมรับว่า แต่เดิมหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายทำให้เกิดการผลิตและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ตามจำนวนของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น และในยุคหนึ่งที่อุตสาหกรรมบูมที่สุดในยุโรปและสหรัฐ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิต สมัยก่อนโรงงานและเทคโนโลยีที่มีกระบวนการในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่ค่อยมี จะเห็นได้ว่าในสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป อุตสาหกรรมการผลิตจะเป็นปล่องควันดำเต็มไปหมด

ทั้งนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะมีการออกกฎหมายเข้ามาควบคุมและเข้มงวดขึ้น สำหรับโรงงานไหนที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ส่วนใหญ่จะต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศพึ่งพัฒนา หลังจากที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก และประชากรของโลกเพิ่มขึ้นทุกปีการบริโภคสินค้าต่าง ๆ ต้องผลิตเยอะขึ้น ดังนั้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกที่ไปถึงจุดวิกฤติ ทำให้ทั่วโลกเริ่มมองเห็นปัญหาที่เรียกว่า ปัญหาแห่งหายนะของมวลมนุษยชาติ ถ้าไม่แก้ เราจะเห็นสัญญาณเตือนในช่วงที่ผ่านมาเช่นปัญหาเรื่องปรากฏการณ์ของภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น บ่อยขึ้นและกินพื้นที่กว้างขึ้น บางประเทศที่เป็นทะเลทราย แต่มีหิมะตก บางประเทศไม่เคยมีฝนตกหนัก แต่ก็ต้องโดนกระทบจากนํ้าท่วม นั่นคือสัญญาณที่เตือนว่าภาวะโลกร้อน และกลายเป็น ภาวะโลกเดือด ที่เป็นสัญญาณไฟแดงและเป็นความเสี่ยงใหญ่มาก

จากความจริงที่เกิดขึ้นประเทศที่ลุกขึ้นมาก่อนคือยุโรปที่ตั้งเกณฑ์ออกมา คือ ซีแบม (CBAM) ที่จะเป็นเกณฑ์ว่าสินค้าจากประเทศใด หรือแม้แต่การผลิตในประเทศ ใครที่ผลิตและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ยิ่งปล่อยเยอะจะต้องเสียภาษีเยอะ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา เริ่มต้นจาก 6 อุตสาหกรรมนำร่อง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้พลังงานเยอะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เช่น อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ผลิตเหล็กอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตแก้วเซรามิก โดยให้เวลาปรับตัว 2 ปี ในการที่จะส่งรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และหลังจากนั้นก็จะบังคับใช้ต่อไป ในทุกอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันเรายังได้จัดตั้งแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา ภายใต้สถาบันนี้ เรียกว่า FTIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างอุตสาหกรรมต่ออุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อมีความรู้และความเข้าใจมีคาร์บอนที่ปล่อยเท่าไร ก็สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขายต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก จะเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตเข้ามา ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาดที่เหลือคาร์บอนเครดิต ก็นำมาขายต่อได้ ถือเป็นธุรกิจใหม่ในโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% จากการดำเนินการตามปกติ จะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (เน็ต ซีโร่) ภายในปี 2065 หมายความว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทย เพราะถ้าเราไม่ทำเราก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้และไม่ใช่เพียงแค่สินค้าเท่านั้นยังรวมไปถึงภาคบริการ เช่น โรงแรม หรือการจัดงานประชุม แสดงสินค้าเอ็กซิบิชั่นต่าง ๆ ที่ต้องจัดให้สอดคล้องกับการลดโลกร้อนด้วย”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมในช่วงปี 66 ที่ผ่านมาตัวเลขของการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากความต้องการชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกเปราะบาง สหรัฐลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และได้ผล ทำให้การนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกลดลง รวมไปถึงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่อียู ที่มีปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยอียูได้รับผลกระทบหนักมากจากเศรษฐกิจที่ยํ่าแย่ เงินเฟ้อปรับตัวสูงมาก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่ลดลง

ประเทศไทยถือว่า ยังโชคดีเพราะในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ยอดการส่งออกปรับลดติดต่อกัน 10 เดือน แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวกว่า 8% เมื่อตรวจสอบพบว่าสินค้าทางการเกษตรของไทยได้ราคาดี และส่งออกได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าสินค้าเกษตรที่เป็นพืชผักผลไม้รวมถึงเกษตรแปรรูปดีหมด เพราะเกิดปัญหาเอลนีโญในทั่วโลก ทำให้ประเทศอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกเข้าอันดับหนึ่งของโลกต้องมีการระมัดระวัง เพราะเกรงว่าประชากรกว่า 1,400 ล้านคนจะไม่มีข้าวกิน ต้องเก็บข้าวเหล่านั้นส่งออก ทำให้ราคาของประเทศไทยดีขึ้น และส่งผลต่อไปอีกสักระยะ

ตอนนี้ปัญหาเรื่องเอลนีโญกำลังเข้ามาสู่ประเทศไทย และปีนี้ ด้วยภาวะโลกร้อนส่งผลให้เอลนีโญยาวขึ้น 3-4 ปี และรุนแรงขึ้น นึกภาพประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและขาดนํ้า จะเพาะปลูกยังไง จะกระทบกับภาคเกษตรมากมาย ทำให้ส่งออกสินค้าเกษตรไม่ได้ รวมถึงนํ้ายังมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้นํ้า อีกทั้งการบริโภค ทำให้เกิดการแย่งใช้นํ้า ไม่อย่างนั้นสินค้าเกษตรที่ไปได้ดีราคาดีจะลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนก็จะมีปัญหา ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นปัญหาเร่งรีบวางแผนแก้

ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เรียกว่า Next gen industry หรืออุตสาหกรรมอนาคต เพื่อเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ แทนอุตสาหกรรมเก่าที่อยู่มา 40-50 ปี และกำลังโดนเปลี่ยนแปลง แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวเราตั้งเป้าเรียบร้อย เช่น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ทำน้อยได้มาก โดยเมื่อก่อนใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ตอนนี้แรงงานน้อยลง ต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย ในการเพิ่มมูลค่า ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ ออโตเมชั่น ดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โลจิสติกส์ การบิน ไบโอฟิลด์ ไบโอเคมีคัล รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะชั้นสูง แต่การศึกษาของเรายังศึกษาด้วยหลักสูตรเดิม ๆ ทำให้เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ สวนทางกับงานที่เปลี่ยนหมดแล้ว ในขณะที่คนที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง กับยอมจ่ายตังค์จ่ายค่าแรงที่แพงมาก แต่หาคนไม่ได้ เรื่องดังกล่าวขาดการพูดคุยกัน

“ในวันนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือเรื่องของบุคลากร ต้องปฏิรูประบบการศึกษา ตั้งแต่ต้นจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างผลให้ตรงกับความต้องการ รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ที่ต้องการทักษะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่าคณะต่าง ๆ ที่เคยได้รับความนิยม 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนิเทศศาสตร์เมื่อก่อนคนแย่งกันเรียนเดี๋ยวนี้ไม่มีงานทำ แต่อุตสาหกรรมที่ต้องการคนเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และการใช้งานทางดิจิทัล รวมถึง data analytics ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ ถือเป็นความต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับปรุงให้ครบถ้วน”

อย่างไรก็ตามจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค 2022 จนถึง 2023 มีการหารือกันว่า จากนี้ไปโลกเราจะไม่พูดในเรื่องการทำกำไรสูงสุดเหมือนในอดีตเพราะเมื่อก่อนทุกคนไม่ได้มองถึงสิ่งแวดล้อมมุ่งแต่กำไรสูงสุด แต่วันนี้การทำกำไรสูงสุดอย่างเดียวโดยไม่ดูสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกเดือด และจะเกิดหายนะของมวลมนุษยชาติ จากนี้ไปต้องปรับวิธีการทำงานในการทำคู่ขนาน การสร้างสมดุลที่ดี ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับสิ่งที่คนไทยได้ยินมาตลอด คือเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นหลักที่เราต้องยึดและนำไปปรับกับอุตสาหกรรมให้เกิดความสมดุล และเชื่อว่าหากเรารักษาความสมดุล รักษาความพอเพียง ไม่เบียดเบียน จะสามารถเก็บโลกให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไป.