ส่วนใหญ่แน่นอนคือ “สูญเงิน” แต่จำนวนไม่น้อยก็ “เสียตัว” ถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเต็มใจหรือถูกล่อลวงก็ตาม…

ก่อนหน้านี้ “บ้านสมเด็จโพลล์” เคยสำรวจหัวข้อ “การสะเดาะเคราะห์”จากกลุ่มตัวอย่าง พบ ร้อยละ 80 เคยไปสะเดาะเคราะห์ และ ร้อยละ 87.9 คิดว่าคนในสังคมไทยมีปัญหารุมเร้า ทำให้ต้องไปสะเดาะเคราะห์ ขณะที่ ร้อยละ73.6 คิดว่าหน่วยงานรัฐควรควบคุมสถานที่สะเดาะเคราะห์ เพื่อป้องกันการหลอกลวงเงินทอง และอาชญากรรมทางเพศ

ข้อมูลดังกล่าว นอกจากสะท้อนความเชื่อในลักษณะนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อีกด้านยังต้องสงสัยว่าคนไทยงมงายมากขึ้นหรือไม่?

ในมุมมอง ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ วิเคราะห์ผลสำรวจว่าชี้ให้เห็นสังคมไทยมีปัญหารุมเร้า และการไปสะเดาเคราะห์เป็นเรื่องปกติ คิดว่าทำให้ชีวิตดีขึ้น เหตุผลหลักมาจากรู้สึกดวงไม่ดี ไม่สบายใจ หาทางออกไม่ได้ จึงสะท้อนได้ว่าสังคมไทยมีความเชื่อที่งมงาย เพราะการแก้ปัญหาแท้จริงต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ มากกว่าไปสะเดาะเคราะห์

ขณะที่การรับรู้เรื่องสถานที่ไปสะเดาะเคราะห์ผลสำรวจชี้ว่ามาจากสื่อบุคคลเป็นอันดับ 1 การใช้จ่ายอยู่ที่ 101-500 บาท การไปเสียค่าใช้จ่ายเช่นนี้ อาจจะทำให้คนที่ไปสบายใจ แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

ที่น่าสนใจคือสถานที่สะเดาะเคราะห์ “สำนักเข้าทรง” มาเป็นอันดับ 3 ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากข่าวไม่ว่าจะหลอกลวง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่มาจากสำนักเข้าทรง เพราะผู้ที่ไปสะเดาะเคราะห์จะคิดสับสนและมักหลงเชื่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ตนเองตกเป็นเหยื่อหลอกลวงเงินทอง หรือล่อลวงเป็นเหยื่ออาชญกรรมทางเพศ

สำหรับภาครัฐผลสำรวจชี้ว่าควรเข้าไปกำกับดูแล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยวิธีป้องกันตนเองคือเลือกสถานที่ปลอดภัย ไม่ไปทำพิธีกรรมในห้องที่อยู่ด้วยกันเพียง 2 ต่อ 2 ระมัดระวังตัวจากการถูกหลองลวงให้เสียเงินจากการทำพิธีกรรม

ทั้งนี้ แนะว่าปัญหาต่างๆที่คิดว่าไปสะเดาะเคราะห์ ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้น ควรกลับไปมองหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ หรือหาทางออกที่สามารถแก้ปัญหานั้นได้จะดีกว่า

ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามเพิ่มเติมกับหนึ่งผู้คลุกคลีแวดวงพุทธศาสนา นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องแปลกเกิดขึ้นเยอะมาก อาทิ เรื่องเจ้าพิธีการทำพิธีกรรมในรถตามที่ตกเป็นข่าวไปก่อนหน้า กลุ่มร่างทรง หมอดู แทนที่จะนำวิชาชีพเหล่านี้ไปทำมาหากิน หาเงิน หาทอง กลับนำมาใช้ในการล่อลวงบำเรอกามตน

ทั้งนี้ อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ปี 63-66 มา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องแปลกที่กลุ่มคนทำพิธีต่างๆ ต้องการโกงกินด้วยการระบายออก “ทางกาม” พร้อมยังยังมองทิศทางในอนาคตก็จะเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ชี้หากตั้งสติตามคติที่ตนคิดได้อย่าง “ห้ามให้ ห้ามยอม” ก็จะลดการเกิดเหตุได้ แต่ที่น่ากังวลคือส่วนใหญ่ที่พบเหยื่อมีจิตใจที่อ่อนไหว-ไม่ตั้งสติ

“เขาขอปากก็ให้ปาก ขออวัยวะเพศก็ให้อวัยวะเพศ ขอทวารหนักก็ให้ทวารหนัก”

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้หากตั้งสติและฉุกคิดดีๆ ของทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ควรให้ใคร หากตั้งสติดีและใจแข็ง ซึ่งเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับเหยื่อที่ไม่ตั้งสติ จิตใจอ่อนไหว หัวอ่อน เป็นไปตามคำหว่านล้อมของมิจฉาชีพ ก็จะทำให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพตามที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าสังคมไทยในปัจจุบันน่าเป็นห่วง เพราะเพียงแค่อยากได้อะไรบางอย่าง เช่น ให้ความรักกลับคืนมา อยากได้เงิน อยากได้โชค หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ถึงขั้นยอมเสียสละ “ของสงวน” ทั้งสามประการ ซึ่งโดยหลักการแล้วของสงวนไม่ควรให้ใครง่ายๆ ควรที่จะเก็บรักษากับตัวไว้ดีๆ แต่เมื่อจิตใจเราอ่อนไหวก็ยินยอมกับสิ่งที่ไม่ควรยินยอม

นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวมองหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรมศาสนาและวัฒนธรรม ต้องเข้ามากำกับดูแล เพราะหากปล่อยปละละเลย แล้วยังโยนว่าไม่ใช่หน้าที่ ก็จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ อย่างกรณีของเด็กชายวัย 8 ขวบ (เชื่อมจิต) ที่รัฐควรเข้ามามีส่วนร่วม แต่จะทำไหมก็อีกเรื่อง

นอกจากนี้ ตนคิดว่าควรตั้งสมาพันธ์ หรือสภา อย่างสภาทนายความฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลกำกับกรอบการทำงานของ “กลุ่มผู้วิเศษ” อีกทั้งจากความรู้สึกมองว่ากระทรวงมหาดไทยควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และมีข้อมูลส่วนบุคคลทุกอย่าง อย่างกลุ่มศาลเจ้า โรงเจ บางส่วนมีข้อมูลอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และขึ้นตรงกับกระทรวง

“กระทรวงมหาดไทยสามารถเป็นเจ้าภาพและสนธิกำลังตำรวจ เพื่อเข้าตรวจสอบว่าสำนักไหนดี สำนักไหนไม่ดี เพื่อตีกรอบให้เข้ามาอยู่ภายใต้กำกับของกฎของกระทรวงได้”

นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ย้ำทิ้งท้ายหากคนในสังคมตั้งสติได้ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่เป็นข่าว หวังว่าแนวโน้มการเกิดเหตุลักษณะนี้ในปีหน้าจะลดลง แต่ในใจลึกๆ ก็กลัวว่าจะ “เพิ่มขึ้น” เพราะที่ผ่านมาในช่วงหลายปีนี้ เหตุลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี

“สุดท้ายนี้ขอฝากถึงผู้อ่านเดลินิวส์ทุกคนว่าอย่าหวังทางลัด แก้ปัญหาด้วยตนเอง ตั้งสติ และอย่าประมาท จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป”.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน