ซึ่งการวางฐานรากการทำธุรกิจให้มองเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ในรั้วสถาบันการศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั่วโลกได้หยิบยกในประเด็น ESG SDGs ในทุกเวทีการประชุมสำคัญ ๆ และยังช่วยเป็นเกราะป้องกันการทำธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยไม่เบียดเบียนใคร

ประเด็นนี้เองทาง “ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ฉายภาพให้เห็นว่า โลกวันนี้มีการพูดถึงประเด็น ESG เป็นกรอบหรือแนวคิดที่ทุก ๆ อุตสาหกรรมต้องตระหนัก และนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์ธุรกิจ ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ จึงไม่สามารถมองข้ามในเรื่องนี้ได้ ซึ่ง ESG เกี่ยวข้องกับหลายด้าน ไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม ความโปร่งใส ด้วย

เช่น หากคุณจะทำธุรกิจร้านกาแฟ ไม่ใช่แค่งดใช้ถุงพลาสติกหรือหลอดพลาสติกแล้วบอกว่ารักษ์โลกจบ แต่ลักษณะการมอง ESG ต้องใหญ่กว่านั้น เช่น เมล็ดกาแฟที่รับมาจากเกษตรกร ต้องไม่ใช้สารเคมี การได้มาของวัตถุดิบต่าง ๆ ต้องมาอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส ต้องมองตั้งแต่จุดเริ่มต้นของธุรกิจ ซึ่งคณะก็พยายามปลูกฝังหลักการเหล่านี้แก่นิสิต

สำหรับการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน เราต้องอย่ามองมิติเป็นเพียงข้อเดียวเท่านั้น เราต้องมองผ่าน 3 ข้อด้วยกัน คือ “พอใจ กำไร ยั่งยืน” คำว่า พอใจ คือ การที่ลูกค้าพอใจในระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น ความยั่งยืน ต้องเป็นยอดขายที่เกิดจากแรงจูงใจที่ชอบคุณภาพ ความไว้วางใจความผูกพันที่เป็นระยะยาว ไม่ใช่แค่ลด แลก แจก แถม เป็นแค่ระยะสั้น ส่วน กำไร เกิดจากความสุขของลูกค้า ไม่ใช่กำไรจากการตั้งราคา หรือเอาเปรียบ สุดท้าย ความยั่งยืน แม้ว่าเจ้าของธุรกิจไม่อยู่โลกนี้แล้วแต่ธุรกิจยังอยู่ แบรนด์ต้องอายุยืนกว่าคนสร้างแบรนด์ ธุรกิจต้องอายุยืนกว่าเจ้าของธุรกิจ ไม่มองความยั่งยืนในแง่มิติ สิ่งแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองถึงมูลค่า คุณภาพ ลูกค้าชอบ มีประโยชน์เชิงสังคมด้วย

ล่าสุด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพาณิชย์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้ร่วมกันเปิดตัว CBSquare ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันด้านสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้บันทึกคาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศ โดย “ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ” ขยายความว่า CBSquare แอปพลิเคชัน เป็นโครงการพัฒนา “แผนธุรกิจใหม่” นำโดยทีมนิสิต บริษัท จุฬา บิซิเนส เอ็นเทอร์ไพรส์ ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน ให้ใช้เทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้บันทึกสะสมคะแนนการลดการใช้คาร์บอน เพื่อกระตุ้น จูงใจให้คนหันมาทำกิจกรรมที่ลดการใช้คาร์บอน เป็นต้นแบบการบูรณาการร่วมกันระหว่างการศึกษา เกษตรและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างงานที่ได้เพิ่งจัดไปงาน บัญชี แฮปปี้ ฟาร์ม แฟร์ ส่งฟาร์มสุขรับปีใหม่แบบยั่งยืน จัดทำขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงเกษตรกรและนิสิตในการทำธุรกิจ ในรูปแบบ The Real Farmer Business in the school หรือเป็นการทำธุรกิจจริงในรั้วมหาวิทยาลัย เราให้นิสิต เรียนตั้งแต่ปี 1 ทำงานควบคู่กันไป แต่ก็เป็นความสมัครใจ เพราะเราเชื่อว่า คุณจะไม่มีวันเข้าใจเกษตรกร ถ้าคุณไม่เป็นเกษตรกรเสียเอง ตรงจุดนี้นิสิตจะได้เชื่อมโยงเกษตรกรท้องถิ่น ที่ต้องการหาช่องทางพัฒนาแบรนด์สินค้าของตนเองในอนาคต

และมีการใช้ยอดแอปพลิเคชัน สร้างระบบ Sustainable CRM ที่ทุกการซื้อสินค้าเกษตร และกิจกรรมที่สมาชิกทำเพื่อลดการก่อคาร์บอนในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ถุงผ้า การเอาแก้วมาเอง เป็นเครื่องมือช่วยสร้างพฤติกรรมให้ทุกคนได้ลงมือทำ ได้เกิดการตระหนักรู้ในการลดการเกิดคาร์บอน สามารถสแกนผ่านแอปเพื่อสะสม CBS Credit เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างการรับรู้ เรื่องคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มที่ให้ทุกคนเข้าใจ และเข้าถึงในการช่วยให้โลกดีขึ้นได้ จากทุกการซื้อสินค้า การใช้จ่าย การบริจาคสิ่งของ เรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ทุกคนทำได้เลยทันที

“เรามองบทบาทของความเป็นมหาวิทยาลัย เราไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันการศึกษา แต่เรากำลังเป็นนักปั้น ปั้นนิสิต เรากำลังสร้างคนเราอยากให้เขา กลายเป็นผู้นำแห่งอนาคตที่มีคุณภาพ ประกอบไปด้วย จิตสำนึกแห่งชุมชน เรากำลังให้สินค้าเกษตรเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เพียงการขาย แต่หมายถึงให้นิสิต มีส่วนร่วมพัฒนา สร้างบริษัทไปร่วมกับเกษตรกร แล้วแบ่งผลกำไรกัน นิสิตก็ได้ทดลองงานจริง เกษตรกรที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดออนไลน์ หรือเรื่องระบบบัญชี ทางนิสิตก็จะไปช่วยตรงจุดนี้ เราสามารถเชื่อมโยงนิสิต เกษตรกร และใส่นวัตกรรมเข้าไปอีก มีแอปคาร์บอนเครดิต ลดคาร์บอนเดครดิตได้อีก”

 นอกจากนี้ ทางคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ได้ตั้งชุมนุม SIFE ซึ่งเป็นชุมนุมของนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่เข้าไปร่วมวางแผนธุรกิจกับชุมชน ให้เกิดการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านธุรกิจในห้องเรียนและศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาประยุกต์และปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนทั่วประเทศไทย ให้เกิดการซื้อขาย สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการทำงานจะมี 3 ขั้นตอน จะนำปัญหา และความต้องการของชุมชนเป็นกรอบการทำงาน เพราะการทำงานต้องเกิดจากตัวเราอยากพัฒนาให้เขาจริง และต้องเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการให้เราไปทำด้วยเช่นกัน และสิ่งสำคัญที่สุดลำดับสุดท้าย คือ ชุมชนต้องเป็นกำลังสำคัญในการลงมือปฏิบัติ โดยมีชุมนุม SIFE เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน.