ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น รวมถึงการสั่งอาหารดิลิเวอรีมากขึ้น ทำให้ใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น และส่งผลให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ มีปาร์ตี้ปีใหม่สุดสนุก อาจสร้างทุกข์ให้โลกของเรา เพราะขยะจากปาร์ตี้มีเหลือเพียบ ยังอยู่ต่อบนโลกต่อไปอีกแสนนาน มาหาวิธีจัดปาร์ตี้แบบกรีน ๆ ที่คนสนุก โลกสบายกันดีกว่า

จากข้อมูล กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 65 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย ประมาณถึง 25.70 ล้านตัน หรือ 70,411 ตันต่อวัน แบ่งเป็นส่วนที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องประมาณ 40% ส่วนที่จัดการไม่ถูกต้อง 27% มีส่วนที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 35% ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีศักยภาพที่สามารถนำขยะเหล่านี้ไปสู่การจัดการอย่างถูกต้อง การดำเนินการโดยทางราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถเก็บรวบรวม ได้ 78% หรือ 20 ล้านตัน ก่อนจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ประมาณ 19% ในขณะที่อีก 59% หรือคิดเป็น 15.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้ มีขยะที่ถูกส่งไปยังสถานที่กำจัดขยะที่จัดการไม่ถูกต้องถึง 21% และขยะพลาสติกอีกประมาณ 28% ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แต่กลับต้องถูกทิ้งรวมไป และเมื่อถึงเทศกาลท่องเที่ยว ปริมาณขยะก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : OR

กลุ่ม Z-มิลเลนเนียลตื่นตัวสิ่งแวดล้อม

ผลการสำรวจของ ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ปี 66 พบตัวเลขที่น่าสนใจ และน่ายินดีของกลุ่มคนเจน Z และมิลเลนเนียลที่ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในปี 69 โดยกลุ่มเจน Z และมิลเลนเนียล มีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 60% และ 57% ส่งผลให้ 69% ของ เจน Z และ 73% ของมิลเลนเนียล พยายามช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ

เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะ ซึ่งความตื่นตัวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มเจน Z และมิลเลนเนียลนี้ กำลังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสังคม คาดว่า จะส่งผลให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นในอนาคต ดังนั้น เจเนอเรชันอื่น ๆ ไม่ควรนิ่งดูดาย ควรจะปรับตัวหันมาเป็นพลังสนับสนุนแนวคิดนี้

ไทยสร้างขยะติด 1 ใน 10 ของโลก

ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อช “รักษ์โลก” ของเราอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มเลยวันนี้ ในโอกาสที่เรากำลังย่างเข้าสู่เทศกาลฉลองปีใหม่ จะมีการเฉลิมฉลองกันทั้งที่บ้าน ร้านอาหาร และตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ภูเขา ชายทะเล เราจะมีการกินดื่มมากมายตลอดเทศกาล มีการใช้บรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งขวดพลาสติก กล่องเครื่องดื่ม เช่น นม นํ้าผลไม้ ซองขบเคี้ยว เช่น ขนมกรุบกรอบและอื่น ๆ อีกมากมาย เชื่อหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเป็นผู้สร้างขยะ จนกระทั่งไทยเราติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก มีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม

มาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐขอความร่วมมือให้พวกเราช่วยกันลดขยะก็มีหลากหลายวิธีการ เช่น จัดให้มีถังขยะเพียงพอสำหรับรองรับขยะจำนวนมากที่เกิดขึ้นการขอความร่วมมือให้นำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เช่น ขวดพลาสติก กล่องเครื่องดื่ม และถุงขนมกรุบกรอบ ทิ้งลงในถังขยะที่จัดให้แต่ละประเภทของบรรจุภัณฑ์ เป็นการคัดแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ถือเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณขยะได้ โดยบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วแต่ละประเภทก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน

เครือข่ายชวนประชาชนคัดแยกถูกวิธี

ทั้งนี้มีเครือข่ายที่เกิดจากความร่วมมือภาคสมัครใจ เช่น PRO-Thailand Network ดำเนินโครงการนำร่องจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปร่วมกัน “จัดเก็บ คัดแยก อย่างถูกวิธี” จากต้นทาง เพื่อส่งกลับไปรีไซเคิล หรือแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ ทำให้ขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มีค่า เช่น ขวดพลาสติก PET

ขวดใส่เครื่องดื่มหรือนํ้าดื่มในชีวิตประจำวัน หลายคนเคยพลิกดูก้นขวด PET จะเห็นสัญลักษณ์ รีไซเคิล หมายเลข 1 เป็นขวดพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิล เราสามารถช่วยกันคัดแยก เพื่อนำขวดพลาสติก PET นี้ใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ เพื่อลดปริมาณขวดที่ใช้แล้วไม่ให้เล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมหรือไปกองอยู่ที่หลุมฝังกลบ ที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ได้อีกด้วย ดังนั้นหลังจากใช้ขวดพลาสติก PET แล้ว ต้องแยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ เทนํ้า หรือของเหลวออกให้หมดขวด

หากมีสิ่งสกปรกควรล้างทำความสะอาดและตากให้แห้ง แล้วใช้มือบิด หรือ บีบขวดให้แบน เพื่อประหยัดพื้นที่ถังขยะ นำไปขายที่ร้านรับซื้อใกล้บ้าน หรือจะให้ซาเล้งที่มาเก็บขยะหน้าบ้าน หรือจะนำไปทิ้งที่ถังขยะรีไซเคิลซึ่งมีสัญลักษณ์ขยะรีไซเคิล ลูกศรวนบนถังสีเหลือง ซึ่งขวดพลาสติก PET ใช้แล้ว สามารถรีไซเคิลนำมาผลิตเป็นขวดใหม่ ที่เรียกกันว่า ขวด “rPET” ใช้ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยขวด rPET สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน อย.ไทย ถือเป็นบรรจุภัณฑ์แห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง

แยกยังไงได้ประโยชน์สูงสุด

แทบทุกบ้านต้องมีกล่องเครื่องดื่มยูเอชที รู้หรือไม่ว่า กล่องนม หรือนํ้าผลไม้ กล่องกะทิ สามารถรีไซเคิลได้ กล่องเครื่องดื่ม 1 กล่อง ประกอบด้วย 3 วัสดุหลัก คือเยื่อกระดาษ 75% และอีก 25% เป็นพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ ผนึกกันเป็น ชั้น ๆ ซึ่งทั้ง 3 วัสดุนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก เช่น เยื่อกระดาษสามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษเขียน ลดการสูญเสียต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก หรือนำไปทำเป็นสมุด กระดาษโน้ต และซองจดหมาย ตลอดจนเป็นวัตถุดิบในการผลิตแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ได้อีกด้วย

สำหรับ PolyAl ก็สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แผ่นไม้ กรีนบอร์ด ใช้เป็นวัสดุแทนไม้ หลังคา หรือพาเลท วิธีแยกกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้ว ทำได้ง่าย ๆ โดยเทนํ้าออกให้หมด ตัดหัวท้ายกล่อง กางออกเป็นแผ่น ล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง หรือถ้าไม่สะดวกตัด ก็พับให้แบน ๆ ก็ได้เช่นกัน จากนั้นก็รวบรวม ส่งให้ซาเล้ง หรือ ร้านค้าวงษ์พาณิชย์ หรือเช็กพิกัดร้านรับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว แต่ไม่รับขยะกากอุตสาหกรรม ที่ต้องกำจัดพื้นที่เฉพาะเท่านั้น

ถุงขนมกรุบกรอบ หรือบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น ประกอบด้วยแผ่นฟิล์มพลาสติก แผ่นฟิล์มอะลูมิเนียมฟอยล์ แผ่นพลาสติกไนลอน และแผ่นพลาสติก PE แม้จะยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่ระบบการรีไซเคิลได้ แต่ไม่ได้ไร้ค่า เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ โดยนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ไม้เทียมต่าง ๆ เช่น ไม้เทียม ใช้ปูพื้น ปูผนัง ฝ้า เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ หรือสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้พลังงานถ่านหิน ขั้นตอนการคัดแยกก็เพียงแค่ตัดถุงให้เป็นผืนใหญ่ ล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วพับเก็บเป็นชิ้นเล็ก ๆ

การแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วหรือนำไปจัดการให้ถูกต้อง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยภาครัฐ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะ มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการขยะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาคเอกชน ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว โดยควรหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์อื่นได้ ผู้บริโภคอย่างพวกเรา ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับปัญหาขยะ จึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเริ่มต้นง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง ลงมือแยกขยะก่อนทิ้ง หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น

ถ้าพวกเราลงมือทำกันคนละนิด ทำอย่างสมํ่าเสมอ ก็จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลกใบนี้ได้
ปีใหม่นี้ เริ่มกันเลย!.

5 ทริคนี้ปาร์ตี้แบบกรีน ๆ

1. เตรียมปริมาณอาหาร และเครื่องดื่มในปาร์ตี้ให้พอเหมาะ ลิสต์จำนวนคน และทำโพล สำรวจอาหารที่ทุกคนอยากกินก่อนจัด

2. ใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายง่าย ภาชนะ หรือช้อน ส้อม แก้วนํ้า ที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก ภาชนะที่ทำจากชานอ้อย เยื่อพืชธรรมชาติ หลอดกระดาษ หรือหลอดไม้ไผ่

 3. ใช้อุปกรณ์ที่สามารถล้างแล้วใช้ซํ้าอีกได้ เช่น ขวดเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนํ้าเปล่า หรือนํ้าผลไม้ ใช้เครื่องจ่ายนํ้า หรือโหลจ่ายนํ้า

4. ตกแต่งด้วยอุปกรณ์ใช้ซํ้าในปาร์ตี้ครั้งต่อ ๆ ไปได้ จบงานแล้ว ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เก็บเข้ากล่องให้เป็นระเบียบ จะได้หยิบมาใช้ได้อีกในปีหน้า

5. จำไว้เลย นี่คือวัสดุที่ควรเลี่ยง ลูกโป่ง กลิตเตอร์ กากเพชรตกแต่งต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้สุดท้ายจะกลายเป็นไมโครพลาสติก ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล