ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลกและประเทศไทย และ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ทุกปีทั่วโลกมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 1.2 ล้านราย นับเป็นปัญหาสาธารณสุข มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ UN ทำหน้าที่ในการประเมินและวางแผนกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อทำข้อมูลและถอดบทเรียนนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้ 50%

สำหรับรายงาน Global Status Reports on Road Safety ปี 2023 โดย องค์การอนามัยโลก ระบุว่าที่ผ่านมาในทศวรรษความปลอดภัยที่ 1 ได้มีการออกรายงานมาแล้ว 4 ฉบับ มีการตั้งเป้าหมายกำหนดให้ระหว่างปี 2564 – 2573 ลดลงอย่างน้อย 50%

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2566 ปัจจุบันภาพรวมประชากรไทย 70 ล้านคน ยานพาหานะจดะเบียนมากขึ้นจาก 20 ล้านคัน เป็น 45 ล้านคัน แนวโน้มการบาดเจ็บทางถนนดีขึ้น โดยเริ่มลดลงตั้งแต่ 2558 ซึ่งจากตัวเลขรายงานองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด 2023 (ใช้ข้อมูล 2021) พบว่า คนไทยเสียชีวิต 18,218 ราย หรือคิดเป็น 25 ต่อแสนประชากร ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราเสียชีวิต 24,728 ราย หรือคิดเป็น 35 ต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเสียชีวิตที่ลดน้อยลง ยังคงป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกภาคีเครือข่ายทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดครึ่งหนึ่งในปี 2570

สำหรับข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1 . การสวมหมวกกันน็อค พบว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย คนขับ 52% คนซ้อน 21% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 80% และ 70% ตามลำดับ2 . การคาดเข็มขัด ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย ทั้งคนขับและโดยสาร อยู่ที่ 35.7% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ คนขับ 80% ผู้โดยสารข้างหน้า 70% และผู้โดยสารนั่งหลัง 50%

“ตัวเลขสะท้อนว่าอัตราสวมหมวกกันน็อคของคนไทย ยังไม่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราคาดเข็มขัดนิรภัยของไทยลดลงอย่างชัดเจน จากค่าเฉลี่ยปี 2561 ที่คนขับ 58% คนโดยสาร 40% เหลือเพียง 35.7% เท่านั้น” พญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุของประเทศไทย เก็บสถิติจะใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาจากความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้ใช้ข้อมูลจากรายงาน นำไปแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ นำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในปี 2566 ตามเป้าหมายแผนแม่บท ต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้ประมาณ 3,000 คน แต่จนถึงขณะนี้เหลืออีกสองสัปดาห์จะหมดปี 2566 ตัวเลขการเสียชีวิตรวมอาจมากถึง 17,000 คน ซึ่งไม่ต่างจากปี 2565 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทที่ตั้งเป้าว่าอีก 4 ปี จะลดการเสียชีวิตให้เหลือ 8,000 คน

นพ.วิทยา กล่าวว่านโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเปิดเปิดผับจนถึงตี 4 นพ.วิทยา กล่าวว่า โดยตรรกะคนกินเหล้าตีสี่ขับรถกลับบ้านในสภาพเมาและมีความง่วง จึงมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เนื่องจากเวลาหลังจากตีสี่คนเริ่มไปทำมาหากิน ไปตลาดจับจ่ายใช้สอย หลายคนกำลังออกจากบ้านมาออกกำลังกาย นักเรียนกำลังเตรียมตัวเดินทางไปโรงเรียน จึงต้องการรณรงค์และสื่อสารว่าต้องไม่ปล่อยให้คนเมาขับขี่ พร้อมกันนี้ขอฝากความหวังไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการตั้งด่านที่เข้มข้นมากขึ้น จะช่วยชะลอการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้

นพ.วิทยา กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ขอให้พัฒนากลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็น single command การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และพิจารณาอย่างรอบคอบด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม รวมทั้งผลักดัน 4 มาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ 1 ติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่ 2 .มีเครื่องออกใบสั่งอิเลคทรอนิคส์ 3 .ปรับปรุงพัฒนาถนน 3 ดาวทั่วประเทศ 4 . บังคับให้จักรยานยต์ทุกคันติดตั้งเบรก ABS

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทในการส่งเสริมและรณรงค์ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่มาจากอุบัติเหตุ เช่น เมาไม่ขับ ส่วนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกำหนดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถึง 04.00 น. ยอมรับว่ามีความกังวล และจะเป็นเรื่องที่ภาคีเครือข่ายต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งในปีหน้า สสส.จะเข้มข้นเรื่องเมาแล้วขับมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดตายจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร