เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล (Super Poll) ที่ปรึกษาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามและในบทบาท ผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง ปรับทัพจับโจรไซเบอร์ โดยนำผลการศึกษาสำรวจประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,000 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10–16 ธันวาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 เคยถูกโจรไซเบอร์หลอกลวงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 34.0 ไม่เคย ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.6 เคยสูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ นักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.4 พนักงานเอกชนจำนวนมากหรือร้อยละ 45.3 เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 42.9 ในขณะที่แม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.1 และรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปกับ เกษตรกรเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28.0 เคยสูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ที่น่าพิจารณาคือ วันนี้ได้ข้อมูลรู้พิกัดแล้วว่า ประชาชนในภาคกลางส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 กลายเป็นผู้สูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์มากที่สุดมากกว่าประชาชนในทุกภูมิภาค ในขณะที่คนกรุงเทพฯ มีผู้สูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์น้อยที่สุดคือเพียงร้อยละ 4.6 อาจเป็นเพราะคนกรุงเทพมหานครใกล้ข้อมูลข่าวสารตื่นตัวสูงต่อภัยทางไซเบอร์ ในขณะที่ประชาชนภาคอื่น ๆ ได้แก่ ภาคใต้ร้อยละ 28.6 ภาคเหนือร้อยละ 27.7 ภาคอีสานร้อยละ 22.5 ที่เคยสูญเสียเงินให้กับโจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และในบทบาทผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวว่า วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยราชการอื่น ๆ ปรับทัพจับโจรไซเบอร์ ด้วยกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีระหว่างหน่วยงานราชการ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติห่วงใยต่อความทุกข์เดือดร้อน ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้เชื่อมประสานแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนกันอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา

โดยมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures) เมื่อประชาชนโดนโจรไซเบอร์ มิจฉาชีพไซเบอร์ หลอกให้โอนเงิน ให้ดำเนินการต่อไปนี้

1.โทรไปที่ 1441 เพื่ออายัดเงินในบัญชีของคนร้าย
2.อย่าเลิกล้มความตั้งใจจะโทร พยายามโทร 1441 จนติดต่อได้
3.จะมีเลขประจำตัวที่เป็นปัญหาให้กับผู้เสียหาย ผู้เสียหายต้องจดจำเลขนั้นไว้
4.นำเลขนั้นไปแจ้งที่ระบบ Thaipoliceonline.com เพื่อนัดหมายเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจที่กำหนด
5.ไปพบตำรวจที่เป็นร้อยเวร พนักงานสอบสวน ยืนยันดำเนินการกับเจ้าของบัญชีให้ถึงที่สุด
6.ตำรวจออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาพบ ถ้าไม่มาก็จะออกหมายจับต่อไป
7.เจ้าของบัญชีจะพยายามติดต่อขอคืนเงินให้ผู้เสียหาย เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา ตรงนี้ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายแล้วว่าจะเรียกร้องอะไรจากเจ้าของบัญชีบ้าง มาถึงจุดนี้ เกือบร้อยละร้อย ผู้เสียหายจะได้เงินคืน
8.ผู้เสียหายจะยอมถอนแจ้งความหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายว่าจะตัดสินใจอย่างไร

รายละเอียดติดตามได้ที่นี่…คลิก

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ถึงแม้วันนี้ มีการปรับทัพจับโจรไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขบวนการโจรไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบที่จะทำร้ายประชาชนและความมั่นคงของชาติ ดังนั้น รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารประเทศยังน่าจะพิจารณายกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะในยุคดิจิทัล ความมั่นคงของชาติ สถาบันหลักของชาติ ผลประโยชน์ชาติ และความปลอดภัยของประชาชน ควรได้รับการปกป้องรักษาด้วยมาตรฐานสากลสูงสุดนำมาตรฐานสากล เช่น NIST ของสหรัฐอเมริกา ISO 27000 ISO31000 และ กฎหมาย GDPR ของยุโรปมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยโดยเร็วที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ไล่ตามจับโจรไซเบอร์แต่ใครทำข้อมูลรั่วไม่รอบคอบ ต้องรับผิดชอบและเยียวยาประชาชนผู้เสียหายด้วย หากทำได้เช่นนี้ ทุกภาคส่วนจะตื่นตัวมีวิธีการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนทุกคน.