เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการแฮกข้อมูลโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ว่า ได้รับรายงานปัญหาโรงพยาบาลอุดรธานีมา 2-3 วันแล้ว ว่าถูกโจมตีทางระบบคอมพิวเตอร์จาก Ransome ware ซึ่งขณะนี้แก้ปัญหาในเชิงระบบได้แล้ว สามารถตอบสนองในการดูแลผู้ป่วยได้ โดย 1.กรณีส่งต่อผู้ป่วยมารักษาที่รพ.อุดรธานี จะใช้ระบบการทำงานด้วยการเขียนมือ (manual) และทำการเชื่อมระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (PAC) โดยแจ้ง รพ.ทุกแห่งที่เกี่ยวข้องในการส่งต่อผู้ป่วย สามารถพิมพ์ผลทางห้องปฏิบัติการ (Lab) 2.พิมพ์ผลการอ่านฟิล์ม 3.พิมพ์ใบสั่งยามาพร้อมกับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการและติดตาม ตั้งทีมบริหารทางเทคนิคเพื่อฟื้นระบบไอที (IT) และแจ้งความ เก็บหลักฐานดำเนินการโดยรองบริหารและนิติกร
ทั้งนี้ยอมรับว่า มีการถูกโจมตีด้วยระบบดังกล่าวหลายที่ จึงวางแนวทาง 1. แจ้งทุกหน่วยให้เฝ้าระวังการนำเข้าข้อมูลจากที่อื่น เช่น การติดตั้งระบบไฟเชื่อมฐานข้อมูลของเรา 2.วางแนวทางการปฏิบัติการกรณีถูกแฮก เช่น สำรองข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ มีระบบเอกสารทำมือ โรงพยาบาลที่เข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล (HAIT : Healthcare Accreditation Information Technology) ในระดับที่ 2 จะสามารถป้องกันการโจมมตีได้เร็วขึ้น ต้องพัฒนาให้ครบทุกโรงพยาบาล และเมื่อเกิดปัญหาได้ประสานแก้ไขไปที่กระทรวงดีอีเอส
“อย่างไรก็ตาม การโจมตีในลักษณะนี้ทำให้เราตื่นตัวมากขึ้น จากเดิมที่ตื่นตัวอยู่แล้ว เพราะในวันที่ 8 ม.ค.2567 จะประกาศใชบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นำร่องใน 4 จังหวัด ดังนั้นเรายกระกับการป้องกันให้มากขึ้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอยู่บ้าง จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการมาใช้แบบแมนนวล เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนระยะถัดไปทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เข้ามาช่วยดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว