ยุคปัจจุบันธุรกิจไม่สามารถโฟกัสในผลประกอบการได้อย่างเดียว แต่การทำธุรกิจยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลก ส่งผลให้องค์กรธุรกิจในไทย ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องวางเป้าหมายในเรื่องนี้ด้วย!!

โดยทาง “เอไอเอส” ผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคม  และ “กลุ่มเซ็นทรัล” ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกและบริการ ในประเทศไทย จับมือพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ หมู่บ้านคามิคัตสึ ประเทศญี่ปุ่น เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ ในเกาะชินโชกุ ประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ขนาด 109.63 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ป่าไม้ 88% และ 80% เป็นป่าปลูก) สูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร

ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องปลอดขยะและการจัดการขยะอันดับต้น ๆ ของโลก ถือเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด Zero Waste ด้วยกระบวนการจัดการขยะที่ทรงประสิทธิภาพ!?!

ผ่านหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำได้โดยการลดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) จนกลายเป็นเมืองต้นแบบที่ปลอดขยะระดับโลก และเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ของคนรักสิ่งแวดล้อม จากทั่วโลก ที่เดินทางมาศึกษาโมเดลการบริหารจัดการขยะกันอย่างต่อเนื่อง!!

ซาโตชิ โนโนยาม

“ซาโตชิ โนโนยามะ” นายกเทศมนตรี และ ซีอีโอ พังเกีย  บริษัท อาคาดามี่ ให้ความรู้ด้านการแยกขยะ บอกว่า ก่อนที่จะมาเป็นเมืองต้นแบบ Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์นั้น ย้อนไปเมื่อปี 2540 เมืองประสบปัญหาการจัดการขยะ ที่ต้องขนใส่รถบรรทุกเพื่อไปกำจัดยังเมืองใกล้เคียง เพราะหมู่บ้านไม่สามารถใช้เตาเผาขยะได้ เนื่องจากมีกฎหมาย บังคับห้ามเผาขยะ ทำให้ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงเที่ยวละ 170,000 เยน  ส่งผลให้หมู่บ้านต้องใช้งบประมาณรัฐในการกำจัดขยะปีละกว่า 30 ล้านเยน!!

ทำให้ทางหมู่บ้านเริ่มการกำจัดขยะ คัดแยกประเภทอย่างจริงจัง และในปี 2546 ได้ออกปฏิญญา ขยะเป็นศูนย์ในหมู่บ้านไม่มีถังขยะ และรถขนขยะตามบ้าน คนในหมู่บ้านที่มีประมาณ 1,400 คน ต้องขนขยะมาทิ้งและคัดแยกด้วยตนเอง ที่ ศูนย์  Kamikatsu-cho Zero Waste Center ที่ถูกออกแบบก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2563 เป็นรูปเครื่องหมายคำถาม (?) ใช้แนวคิดในการนำของเก่ามารีไซเคิล  ทำให้การก่อสร้างศูนย์ใช้งบประมาณเพียง 550 ล้านเยน!!

ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการทิ้งขยะแบบถูกวิธี ทำการคัดแยกขยะ และคิดก่อนจะซื้อสินค้า ว่าปลายทางของขยะจะเป็นเช่นไร?

โดยศูนย์แห่งนี้ทำการคัดแยกขยะมากถึง 45 ประเภท ขณะที่สิ่งของเหลือใช้ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน ที่ชาวบ้านไม่ใช้แล้ว ก็จะมีการนำมาวางเพื่อให้คนที่มาเยือนที่สนใจหรืออยากได้ขนกลับไปใช้ได้ฟรี เป็นการช่วยลดขยะในหมู่บ้านอีกทางหนึ่ง!?!

“ขยะที่ชาวบ้านขนมาทิ้งและคัดแยก เช่น กระป๋อง พลาสติก กระดาษ จะถูกนำไปขาย ซึ่งสร้างรายได้ให้หมู่บ้าน ปีละ 880,000-2,000,000 เยน ขึ้นอยู่กับราคารับซื้อในปีนั้น ๆ ขณะที่ต้นทุนในการกำจัดขยะอยู่ที่ปีละ 6 ล้านเยน โดยทุกวันจะมีบริษัทเอกชนเข้ามาที่ศูนย์แยกขยะเพื่อมารับซื้อขยะรีไซเคิล โดยปัจจุบันขยะในหมู่บ้าน 98% จะถูกนำมาทิ้งที่ศูนย์นี้ และถูกคัดแยกได้ไม่น้อยกว่า 80%  ส่วนที่คัดแยกไม่ได้เช่น ยาง กาว หนังยาง จากรองเท้า กระเป๋า รวมถึงขยะอันตราย จะเหลือเป็นการฝังกลบให้น้อยที่สุด ส่วนขยะอีก 2% อาจถูกชาวบ้านนำไปทิ้งยังที่อื่น”

“ซาโตชิ โนโนยามะ” บอกต่อว่า เมืองคามิคัตสึมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้มีความงามทางธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข  ในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องขยะเป็นศูนย์ เมืองได้วางเป้าหมายหลักคือ “การคิดถึงอนาคตของสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลาน ภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล และส่งเสริมผู้อื่นให้ร่วมลงมือ” โดยตั้งเป้าหมายขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2573

จากการลงพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ทาง “สมชัย เลิศสุทธิวงค์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส บอกว่า เอไอเอส พร้อมนำมาต่อยอดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 และเป็นการสนับสนุนสู่นโยบาย Sustainable Nation

โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมใน 2 แกนหลัก คือ 1.ลดผลกระทบผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจ 2.ลดและรีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัด E-Waste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

“การมาถึงของ Digital ส่งผลให้เกิดขยะ E-Waste มากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก โดยมูลค่า E-Waste ที่ถูกเผาทำลายมีมากถึง 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับมีการจัดเก็บอย่างถูกวิธีและรีไซเคิลได้เพียง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ปริมาณที่สูญหายในระหว่างทางนั้นมีอยู่มหาศาลและสามารถ ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหากกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง“

สมชัย (ซ้าย) และ พิชัย ( ขวา)

เอไอเอสได้ขับเคลื่อนภารกิจคนไทยไร้ e-waste ในปี 2562 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2563 รณรงค์และเป็นช่องทางรับทิ้ง E-Waste  ได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่านศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 37 สาขา  รวมถึงร้าน  Power Buy ผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร รวม 40 สาขาทั่วประเทศ  และผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste Plus เป็นการร่วมเสริมพลังกับ 190  องค์กร ขับเคลื่อน  HUB of e-waste ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะแห่งแรกของไทย เพื่อการรีไซเคิลสู่กระบวนการ  Zero e-waste to landfill  ได้ในท้ายที่สุด

ด้าน “พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร  กลุ่มเซ็นทรัล บอกว่า กลุ่มเซ็นทรัล เชื่อว่าการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้จะต้องร่วมมือกันทำจากทุกภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังของกลุ่มเซ็นทรัล และเอไอเอส ที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ-ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ”

ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน อาทิ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม  พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลพิษ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน  เป็นต้น

“การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร และขับเคลื่อนการลดการสร้างขยะ ให้เป็นศูนย์ผ่านแคมเปญ  Journey to Zero เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero  ในปี 2593 เพื่อสร้างคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นรีแทลแห่งแรกของไทยที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบในด้านการจัดการขยะทั่วประเทศ ด้วยการปรับและเปลี่ยนเพื่อโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน” ผู้บริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าว

ทั้งหมดถือเป็นแนวทางของสององค์กรใหญ่ที่วางเป้าหมาย สร้างความยั่งยืน และสร้างโลกที่น่าอยู่ ให้กับคนรุ่นถัดไป!?!.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์