จากกรณีชีวิตของ “ดร.เค็ง” ที่ชีวิตพลิกผัน ถูกมหาวิทยาลัยต้นสังกัดบีบให้ต้องลาออก เพียงเพราะป่วยจิตเวช จนเธอกลายเป็นผู้ป่วยโดยสมบูรณ์ ไม่รู้ตัวเอง แต่ในปัจจุบันได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมด้วยการถูกฟ้องร้องถึง 10 ล้านบาทเพื่อชดใช้ทุน ป.เอก จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
-อัปเดตชีวิต ‘ดร.เค็ง’หลังเป็นข่าว หวั่นกระทบงานใหม่ จ่อถูกเรียกแจงพร้อมผู้บริหารม.ดัง

โดยภายหลัง ทางด้าน “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง ระบุว่า “ดร.เค็ง” ไม่เคยยื่นเอกสารว่าป่วย ยืนยันทำตามกฎหมาย-ปฏิบัติด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรมมาโดยตลอด ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
-“ม.แม่ฟ้าหลวง” ออกแถลงการณ์ แจงเหตุยื่นฟ้อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้ออกมาเปิดเผยถึงอีเมลที่ทางมหาวิทยาลัยได้ระบุว่าเป็นเอกสารลาออก โดย บก.ลายจุดได้ระบุว่า “เปิด email ดร.เค็ง ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ใช้เป็นหนังสือลาออก”

ข้อสังเกต
1.การยื่นใบลาออกจะต้องดำเนินการผ่านเอกสาร โดยยื่นต่อผู้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งจะต้องมีลายเซ็นเจ้าของหนังสือกำกับ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2557 ข้อที่ 57
2.หาก มฟล. อ้าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ว่าการส่ง email สามารถทดแทนการยื่นหนังสือลาออกได้แล้วนั้น โดยที่ ดร.เค็ง ยังนั่งทำงานอยุูที่มหาวิทยาลัยจนมีหนังสืออนุญาตให้ลาออกนั้น เหตุใดมหาวิทยาลัยไม่แจ้งหรือขอให้ ดร.เค็ง เขียนหนังสือลาออกเป็นทางการแทนที่จะยึดเอา email ฉบับนี้เป็นหนังสือลาออก ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ

3.ข้อความใน email ฉบับดังกล่าวเต็มเป็นด้วยการบรรยายสภาวะการเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างเห็นได้ชัด และได้ถามไถ่ถึงการยกเว้นการชดใช้หนี้ ซึ่งการพิจารณาอนุมัติให้ลาออกจะต้องผ่านกระบวนการพูดคุยเรื่องการใช้หนี้ทุนก่อน แต่มหาวิทยาลัยกลับละเลยกระบวนการที่ต้องทำก่อนอนุมัติการลาออก
4.ในหมายเหตุของ email ดังกล่าวมีการระบุว่าเป็นจดหมายที่ไม่เป็นทางการ ดังนั้นการที่ มฟล. ยึด email ที่ไม่เป็นทางการนี้เป็นจดหมายลาออกนั้นได้อย่างไร

5.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา 30” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 30” คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

“มหาวิทยาลัยฯ รับทราบอยู่แล้วว่า ดร.เค็ง มีอาการป่วยทางจิตเวชที่อังกฤษ 28 วัน และเมื่อกลับมาทำงานก็เกิดอาการกำเริบ และใน email ฉบับดังกล่าวก็ได้พูดถึงการเจ็บป่วยทางจิตเวช และภายหลังเหตุการณ์ลาออก ดร.เค็ง ยังได้ไปรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีธัญญา ซึ่งเป็นอาการป่วยที่ต่อเนื่องกันมา ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวต่อให้เข้ากับ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังขัดต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.30 อยู่ดี”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @สมบัติ บุญงามอนงค์