ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ รายงานว่า ขณะนี้ฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ และการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร(กม.) เสร็จแล้ว ซึ่งพบว่า  มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 17.3% สูงกว่าเกณฑ์ 12% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ จึงก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์ โดยหลังจากนี้ทางสถานทูตญี่ปุ่นฯ จะเสนอผลการศึกษาฯ ฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟไฮสปีด สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทางกระทรวงคมนาคม และ MLIT ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ การพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation : MOC) เมื่อปี 58 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะพัฒนารถไฟไฮสปีดสายดังกล่าวร่วมกัน โดยฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ซึ่งเบื้องต้นโครงการนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนระยะกลาง (ปี 68-72) ของแผนแม่บทการพัฒนาระบบราง โดยการพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก จะเป็นการพัฒนาในเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และจะพัฒนาต่อเนื่องในเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. เป็นระยะที่สอง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า JICA ได้ประมาณการมูลค่าก่อสร้างโครงการฯ ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เบื้องต้นในปี64 พบว่า วงเงินก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 261,754 ล้านบาท ทั้งนี้หากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบผลการศึกษาดังกล่าวก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป หาก ครม. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 60 โดยรายงานฉบับนี้อีไอเอยังไม่หมดอายุ เนื่องจากเป็นรายงานฉบับเดียวกันกับโครงการรถไฟไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งมีเส้นทางเดียวกัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนระยะที่ 2 ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ อีไอเอได้ผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล.แล้วเช่นกันเมื่อเดือน เม.ย.62 ทั้งนี้อีไอเอจะมีอายุประมาณ 5 ปี หากยังไม่เริ่มดำเนินโครงการ จะต้องทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอีไอเอใหม่ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ก่อนเสนอให้กก.วล.พิจารณาใหม่อีกครั้ง หากเห็นชอบจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการถไฟไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 10,900 คน-เที่ยวต่อวัน จากนั้นปีถัดไปอยู่ที่ 29,700 คน-เที่ยวต่อวัน และปีถัดไป 31,700 คน-เที่ยวต่อวัน

ถัดไปอีก 10 ปี ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 40,300 คน-เที่ยวต่อวัน ขณะที่ถัดไปอีก 10 ปี ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 45,600 คน-เที่ยวต่อวัน และอีก 10 ปีถัดไป ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 50,500 คน-เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารใช้อัตราเท่ากับ 80+1.8 บาทต่อ กม. หรือจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 764 บาท สำหรับโครงการรถไฟไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้ขนาดทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร ใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น (Shinkansen) ความเร็วสูงสุด 300 กม.ต่อชั่วโมง ระยะทางรวมประมาณ 688 กม. มีสถานีจอด 12 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยาลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลําปางลําพูน และเชียงใหม่.