เชื้อเพลิงชีวภาพ ทางเลือก-ทางรอด สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลและอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน ด้วยประสิทธิภาพเทียบเคียงถ่านหิน แต่หาได้ง่ายกว่า ที่สำคัญ ยังช่วยลดของเหลือใช้ทางการเกษตร ลดเลี่ยงการกำจัดทิ้งด้วยการเผา ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รวมถึงเป็นช่องทางสร้างงาน สร้างรายได้ ตอบโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของไทย

“สัญชัย คูบูรณ์” ทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า เราต้องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จากชีวมวลที่มีในประเทศให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงต้องการพัฒนาเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ทดแทนถ่านหินที่กำลังจะถูกจำกัดการใช้งานในอนาคตอันใกล้ จึงมองว่า การพัฒนาถ่านชีวภาพ จะเข้ามาตอบสนองความต้องการ ลดข้อจำกัดของผู้ใช้ชีวมวลในปัจจุบัน

“ถ่านชีวภาพ” คือ เชื้อเพลิงแข็งชีวภาพ ที่มีสมบัติต่าง ๆ ใกล้เคียงกับถ่านหิน ผลิตโดยกระบวนการที่เรียกว่า ทอร์รีแฟคชัน ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพและเปลี่ยนรูปชีวมวลผ่านกระบวนการทางเคมีความร้อน โดยให้ความร้อนแก่ชีวมวลในสภาวะไร้ออกซิเจนหรือจำกัดออกซิเจน (อากาศ) ในช่วงอุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส ถ่านชีวภาพสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมหรือทดแทน เชื้อเพลิงชีวมวลและถ่านหินสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือความร้อนได้

ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. นำของเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นใบอ้อย ใบข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม ไม้โตไวตระกูลกระถิน เปลือกไม้ยูคาลิปตัส มาพัฒนาหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตถ่านชีวภาพจากชีวมวลแต่ละชนิด และวิเคราะห์ทดสอบสมบัติของถ่านชีวภาพที่ผลิตได้ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีระบบผลิตถ่านชีวภาพที่สามารถต่อยอดสู่การใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรม

ถ่านชีวภาพที่พัฒนาขึ้นมานั้น มีค่าความร้อนขั้นตํ่า ความหนาแน่น และความชื้น เมื่อเทียบคุณสมบัติถ่านชีวภาพกับสินค้าคู่แข่ง เช่น ชีวมวล ไม้สับ และเชื้อเพลิงไม้อัดแท่ง ถ่านชีวภาพจะมีค่าความร้อนสูงกว่า ขณะที่ความชื้นของถ่านชีวภาพตํ่ากว่า จัดเก็บได้นานกว่า มีโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าหรือความร้อน เช่น ในโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งมีความต้องการทางการตลาดสูงในประเทศไทย

ที่สำคัญช่วยตอบโจทย์เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ใช้ถ่านชีวภาพส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงถ่านชีวภาพขึ้นในประเทศไทย ทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น และยังส่งเสริมให้เกษตรกรนำชีวมวลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเผาชีวมวลทิ้งในที่โล่งแจ้ง เป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 โดย นวัตกรรมถ่านชีวภาพนี้ ได้ร่วมจัดแสดงในงาน การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี ได้รับความสนใจและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะเกาหลีและญี่ปุ่น.