แต่ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มุยซ์ซู ผู้นำมัลดีฟส์คนใหม่ กล่าวว่า เขายกเลิกแผนการย้ายพลเมือง และจะแก้ปัญหานี้ด้วยการถมที่ดินและสร้างเกาะให้สูงขึ้น แม้กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิมนุษยชน เตือนว่า นโยบายดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของนํ้าท่วมก็ตาม

อดีตประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด นาชีด ซึ่งเริ่มบริหารมัลดีฟส์เมื่อ 15 ปีก่อน กล่าวเตือนประชาชนว่า ชาวมัลดีฟส์อาจกลายเป็นผู้ลี้ภัยด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มแรกของโลก ที่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น ซึ่งเขาต้องการให้มัลดีฟส์เริ่มเก็บเงิน เพื่อซื้อที่ดินในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินเดีย และศรีลังกา หรือประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างออสเตรเลีย

กระนั้น มุยซ์ซู วัย 45 ปี กำลังขอเงินทุนต่างประเทศประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,600 ล้านบาท) เพื่อปกป้องชายฝั่งที่
เปราะบางของมัลดีฟส์ พร้อมกับกล่าวว่า ประชาชนของเขาจะไม่ออกไปจากบ้านเกิดของตัวเอง

ในเดือนนี้ ประเทศเล็ก ๆ อย่างตูวาลู ลงนามในข้อตกลงเพื่อให้พลเมืองมีสิทธิอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อบ้านเกิดของพวกเขาจมหายไปในทะเล แต่ มุยซ์ซู กล่าวว่า มัลดีฟส์จะไม่ทำแบบนั้น

“ผมพูดได้เลยว่า เราไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดิน หรือเช่าที่ดินจากประเทศใดอย่างแน่นอน เพราะกำแพงกันคลื่น จะช่วยทำให้มั่นใจว่า พื้นที่เสี่ยงสามารถกลายเป็น ’เกาะที่ปลอดภัย“ ได้” มุยซ์ซู กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ราว 80% ของมัลดีฟส์ อยู่เหนือระดับนํ้าทะเลไม่ถึง 1 เมตร แม้กำแพงที่มีลักษณะคล้ายป้อมปราการสามารถป้องกันคลื่นได้จริง แต่ชะตากรรมของเกาะชายหาดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมากนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอน

ด้านคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (ไอพีซีซี) กล่าวเตือนในปี 2550 ว่า ระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้น 18-59 เซนติเมตร จะทำให้มัลดีฟส์แทบจะไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ ภายในสิ้นศตวรรษนี้

ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีมอมูน อับดุล กายูม เป็นบุคคลแรกที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับ “จุดจบของมัลดีฟส์” และเตือนสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปี 2528 ถึงภัยคุกคามที่เกิดจากระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะที่ความกลัวของกายูมที่ว่า มัลดีฟส์จะขาดแคลนนํ้าดื่มนั้น ได้กลายเป็นจริงแล้ว เนื่องจากระดับนํ้าเค็มที่เพิ่มขึ้นเริ่มซึมเข้าสู่พื้นดิน ส่งผลให้นํ้าจืดได้รับความเสียหาย

แม้ มุยซ์ซู กล่าวว่า กำแพงกันคลื่นขนาดยักษ์ ถูกสร้างล้อมรอบกรุงมาเลแล้ว และมันมีศักยภาพที่จะขยายไปยังพื้นที่อื่น อีกทั้งโครงการถมทะเลยังช่วยเพิ่มพื้นที่ของมัลดีฟส์ ประมาณ 10% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อม และกลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนว่า การถมทะเลมีความจำเป็นก็จริง แต่มันต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

Reef fish are seen from a privately-operated submarine tour off the Maldivian capital Male on November 14, 2023. (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

ในรายงานฉบับล่าสุด องค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) กล่าวหาว่า ทางการมัลดีฟส์ประสบความล้มเหลวในการดำเนินการตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของตนเอง โดยระบุว่า โครงการถมทะเลมักจะดำเนินอย่าง “เร่งรีบ” และขาดนโยบายบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม ซึ่งการเพิกเฉย หรือการบ่อนทำลายกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ กำลังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนํ้าท่วม รวมถึงอันตรายอื่น ๆ ต่อชุมชนเกาะ.