เมื่อวันที่ 29 พ.ย. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์ข้อความลงใน Facebook “Aek Angsananont” ระบุ “สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับตำรวจที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจคงเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีพูดถึงการแต่งตั้งผู้กำกับใหม่ ฯลฯ

ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า ไม่ได้มีการฝากแต่งตั้งตำรวจ และไม่ได้ใช้อำนาจไปแทรกแซงการแต่งตั้งแต่อย่างใด

สื่อได้ติดตามสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง อดีตผู้บังคับบัญชาตำรวจในประเด็นต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ เจาะลึก อย่างกว้างขวาง

ผมเองก็ได้รับเชิญไปสัมภาษณ์สนทนากับสื่อหลายรายการ อาทิ ช่องเนชั่น คมชัดลึก กับคุณวราวิทย์ ฉิมมณี ช่องไทยพีบีเอส ”ข่าวเจาะย่อโลก“ กับคุณเจษฎา จี้สละ ช่องมติชนสุดสัปดาห์ กับคุณพิชญเดชฯ สถานีวิทยุ เอฟ เอ็ม 100.52 (อสมท) คุณพัชระ สารพิมพาฯลฯ

ประเด็นที่ผมได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เรื่องตั๋วฝากตำรวจมีจริงหรือไม่ มีความเป็นมาอย่างไร การซื้อขายตำแหน่ง ฯลฯ

ผมได้เน้นย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันบริบทกฎหมายตำรวจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องคำนึงระบบคุณธรรม มีหลักเกณฑ์จำกัดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา มิให้กระทำการโดยมิชอบ และมีการสอบทานโดยคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เมื่อ ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยอย่างไรแล้ว ผู้บังคับบัญชาอาจจะต้องรับผิดทางวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ตลอดจนกำหนดฐานความผิดและมีโทษทางอาญาด้วย (พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 มาตรา 33-42, มาตรา 60, มาตรา 87)

เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยมีนายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ เป็นประธานฯและพล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน เป็นเลขานุการ มีผลให้ ก.พ.ค.ตร.เริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที

ดังนั้น หากข้าราชการตำรวจผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร.ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งแต่งตั้ง

ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์

คำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.ให้เป็นที่สุด

ผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน

ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัย ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการเรียงอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง ให้ถือว่าผิดวินัย พิจารณาลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวน ภายใน 30 วัน นับแต่ ก.พ.ค.ตร.แจ้ง แล้วรายงาน ก.ตร.

ก.ตร.พิจารณาแล้วเป็นการจงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายผู้ใด ให้ถือว่าผิดวินัยร้ายแรง (โทษไล่ออกหรือปลดออก) ลงโทษได้โดยไม่ต้องสอบสวน

สำหรับเรื่องตั๋วและการซื้อขายตำแหน่ง มีบทกำหนดฐานความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะ (พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 มาตรา 87 วรรคสุดท้าย)

“ผู้ใดให้ ขอให้ รับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น หรือกระทำทำการโดยมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใด ไม่ว่าการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี”

ผมยืนยันว่า ได้มีการปฏิรูปตำรวจในเรื่องการบริหารบุคคลแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ หากมีการละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์การแต่งตั้งต่างๆ ก.พ.ค.ตร.จะพิจารณาและวินิจฉัย เพื่อผดุงระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป”

ทั้งนี้สำหรับการแต่งตั้งตำรวจที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา เซ็นตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ มี “สมรรถชัย “ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 356/2566

เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) จำนวน 7 ราย ดังนี้ นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ เป็นประธานกรรมการ และมี นายธวัชชัย ไทยเขียว, พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี, นายวันชาติ สันติกุญชร, พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์, พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม เป็นกรรมการ และมี พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2566