ในส่วนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งทั่วโลกใช้กันมานานกว่า 70-80 ปี Generation 1 หรือรุ่นแรกใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จากนั้นก็มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ล่าสุดเข้าสู่รุ่น 3.5 ซึ่งใช้งาน 5-10 ปีมาแล้ว และการพัฒนายังไปต่อ โดยรุ่น 5 ถูกออกแบบไว้แล้วเป็นรุ่นที่จะมีการปฏิวัติการดีไซน์ขนานใหญ่เลยทีเดียว (Revolutionary designs)

ร.ท.ศรัณย์ ซอโสตถิกุล สมาชิกสมาคมนิวเคลียร์ แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามการพัฒนาแต่ละรุ่นจะนำปัญหาในอดีตมาปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ตอนนี้มีการพูดถึงรุ่น SMRs (Small Modular Reactors) ซึ่งเป็นรุ่นที่น่าสนใจ ถูกพัฒนาอยู่ในเวอร์ชัน 4 ขนาดเล็กลง ผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่น้อยลงเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น ๆ แถมมีความปลอดภัยมากขึ้น

การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไปต่อ เพราะยังไงเสียปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นหนึ่งในหนทางที่จะตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงของพลังงาน เพราะเป็นทางเลือกที่จะทำให้เรามีพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอน จากที่มองแค่ว่ามีลม แสงแดด พลังงานเขื่อน ซึ่งไทยมีข้อจำกัดมากในการนำพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้มาใช้อย่างจริงจัง ทั้งศักยภาพพลังงานลมของเราไม่มากพอ ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถผลิตใช้ในช่วงกลางคืน

หากเทียบมูลค่าการลงทุนกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอาจจะลงทุนน้อยกว่าจริง แต่แพงที่ค่าเชื้อเพลิงที่สูงกว่า 70% ของค่าใช้จ่าย แล้วเราก็ต้องนำเข้าก๊าซฯ มากขึ้น เป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าเราเหวี่ยงมาก ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แม้แรกเริ่มจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่หลังจากนั้นสามารถบริหารจัดการได้ ช่วยให้วาง แผนได้ในระยะยาว

บ้านเราศึกษาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มาตลอด แต่ก็หยุดไปหลายรอบ เพราะเกิดเหตุการณ์ทำให้คนกลัว ก็ต้องยอมรับว่าเวลาทำโครงการใหญ่ คนในพื้นที่มักจะแอนตี้ และเมื่อพูดถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็ยิ่งมีแรงต่อต้าน ดังนั้นในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แม้จะเขียนว่า “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นหนึ่งในการตอบโจทย์ด้านพลังงาน” แต่ก็เป็นการเขียนอย่างระมัดระวังไม่ได้ลุยเต็มที่เท่าไร ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคตจากปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะถูกบรรจุอย่างจริงจังหรือไม่อย่างไร

แต่ถ้ามองจากข้อมูลทั่วโลก เราจะพบว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ประเทศไทยมากขึ้นอย่างเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กอย่างรุ่น SMRs ขณะที่บุคลากรของเราถือว่ามีความพร้อมจากการได้ศึกษาดูงานมาในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐ ดังนั้นหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของคนไทยแล้ว ว่าจะทำให้เกิดขี้นได้หรือไม่.