ภายใต้หัวข้อ ’Regenerative Fuels: Sustainable Mobility“ เพื่อนำเสนอทิศทางการลดคาร์บอน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินที่กำลังมีความต้องการนํ้ามันอากาศยานชีวภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ที่ได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองในภาคส่วนต่าง ๆ

“ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานว่า ด้วยสภาวะปัจจุบัน ทำให้โลกให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น โดย ไฮโดรเจนถูกมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต แต่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการนำไปใช้งานจริงให้มีราคาและต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงของโลกที่อยู่ในระดับสูงถึง 220 ล้านบาร์เรลต่อวัน “เชื้อเพลิงเหลว” หรือ Liquid Fuels จะเป็นรูปแบบพลังงานหลักที่สำคัญ จาก 2 ปัจจัยคือ ความหนาแน่นของพลังงานสูงและการขนส่งที่สะดวก

เนื่องจากทุก ๆ วันโลกเราบริโภคพลังงานต่อวัน 1.7 ล้านล้านล้านจูล ( EJ ) เทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้ในเครื่องบินแอร์บัส 320 ที่บินรอบโลกวันละ 3.5 แสนรอบ หรือไปกลับโลกกับดวงจันทร์วันละ 37,000 รอบ โดย 80% เป็นพลังงานฟอสซิล ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณพลังงาน 1.4 ล้านล้านล้านจูล (EJ) โดยจำนวนนี้มีการบริโภคนํ้ามันต่อวัน 220 ล้านบาร์เรล เท่ากับนํ้า 3.5 หมื่นล้านลิตรต่อวัน ประชากรโลก 8 พันล้านคน ถือว่าบริโภคมากกว่าการดื่มนํ้า 2 เท่า ซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่เยอะมาก

’เห็นได้ว่าทุกวันนี้มีการใช้พลังงานกันมาก โดยรูปแบบที่ใช้ คือ นํ้ามันสัดส่วนมากที่สุด 30% โดยที่นํ้ามัน 1 กิโลกรัม รถจะวิ่งได้ 15 กิโลเมตร แต่หากเป็นแบตเตอรี่ 1 กิโลกรัม วิ่งได้ไม่ถึง 1 กิโลเมตร ฉะนั้น ทำให้เห็นว่านํ้ามันมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกือบ 20 เท่าตัว และยังเป็นที่นิยมอยู่“

ขณะเดียวกันประชากรโลกส่วนใหญ่อยู่ที่เอเชียโดยที่แหล่งพลังงานอยู่นอกเมืองจากทะเลลึก จึงต้องมีการเคลื่อนย้ายต้นกำเนิดแหล่งพลังงานมาให้กับผู้บริโภค ที่สามารถทำได้หลายแบบ หากเป็นก๊าซ วิธีง่ายที่สุด คือ ส่งไปตามท่อ ส่วนของเหลว ส่งได้ทั้งทางท่อ ทางเรือ หรือใช้รถขนส่ง แต่หากเป็นถ่านหิน จะขนส่งค่อนข้างลำบาก ส่วนอิเล็กตรอน จะขนไปตามสาย ซึ่งเห็นได้ว่ารูปแบบการขนพลังงานที่ดีที่สุด ตัวพลังงานควรอยู่ในรูปแบบของเหลว

อย่างไรก็ตามหากต้องการพลังงานสะอาด ที่ต้องการชดเชยเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงต้องหาที่ตอบโจทย์ให้ได้คือ “กรีน อิเล็กตรอน” ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่มาจากดิน นํ้า ลม แสงแดด ซึ่งหากเทียบการสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเพื่อมาชดเชยพลังงาน 220 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะต้องสร้างถึง 1.3 แสนเขื่อน และยังต้องสร้างสายไฟแรงสูง เพื่อนำพลังงานมาให้ผู้บริโภคที่ต้องมีความยาวถึง 320 ล้านกิโลเมตร หรือเท่ากับความยาวในการพันรอบโลกถึง 8 พันครั้ง

“ชัยวัฒน์” บอกด้วยว่า ด้วยเหตุนี้จึงอยากแนะนำ “Clean Molecules” หรือ คลีน โมเลกุล ซึ่งเป็นโมเลกุลสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เช่น “เชื้อเพลิงชีวภาพ” หรือ Biofuels ที่ถือเป็นโมเลกุลสะอาดที่มาจากพืช รวมไปถึงการพัฒนาเทคโน โลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ที่สามารถตอบโจทย์สำหรับการเดินทางและขนส่งอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือช่วยตอบโจทย์โลกนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตอบโจทย์ครั้งสำคัญ บางจากจึงได้บุกเบิกธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากนํ้ามันใช้แล้วจากการทำอาหาร ที่โรงกลั่นนํ้ามันบางจาก พระโขนง มีการลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2567 และเริ่มผลิตได้ในต้นปี 2568 มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว ช่วยให้โลกเขียวขึ้นและน่าอยู่ขึ้น

นอกจากนี้ก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในนํ้ามันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซีอีโอ บางจาก กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาการนำกากไม้มาเข้าสู่กระบวนการหมัก เพื่อให้เกิดเชื้อเพลิง รวมถึงการผลิตนํ้ามันจากสาหร่าย ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ยาก หรือแม้แต่การพัฒนา e-Fuels ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Synthetic Fuels ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บ และไม่ทิ้งเชื้อเพลิงสำคัญ อย่าง ’ไฮโดรเจน“ ที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนแล้วนำมาแยกเป็นไฮโดรเจน ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและต้องใช้ระยะเวลา.