เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทำลายสถิติสูงสุดที่ 17.18 องศาเซลเซียส หรือสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 ที่ได้เริ่มมีการบันทึกการวัดอุณหภูมิโลก และตลอดระยะเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมา โลกได้ร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าโลกร้อนขึ้นอีกเพียง 1.5 องศาเซลเซียส มวลมนุษยชาติก็จะเข้าสู่หายนะ ซึ่งตอนนี้เท่ากับว่าเราได้แง้มประตูสู่ห้วงนรกอเวจีแล้ว ทั้งนี้ นักพยากรณ์อากาศของไทยได้มีการทำนายว่า ในปีนี้อากาศจะไม่หนาวมากเช่นปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสนํ้าอุ่นเส้นศูนย์สูตร ในช่วง El Nino ซึ่งก็คงต้องดูว่าจริงไหม อย่างไรก็ตามในยุคโลกเดือด ก็ไม่ได้หมายความว่าทุก ๆ ที่จะไม่หนาว แต่อาจจะมีอากาศแปรปรวนสุดขั้วที่คาดเดาได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งบางแห่งอาจจะหนาวจัดกับมีพายุหิมะที่ยาวนาน หรือบางแห่งอาจจะมีหิมะตก ทั้งที่ไม่เคยตกมาก่อน หรือบางแห่งอาจจะไม่หนาวเลย ฤดูหนาวมาช้า หรืออาจจะหนาวฉับพลันแค่ชั่วข้ามคืนก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

แล้วโลกร้อนขึ้นได้อย่างไร โดยเรื่องนี้เป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจก ที่เราค่อย ๆ สะสมคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมหนัก ประกอบกับเราเลือกใช้ชีวิตกันอย่างสุขสบายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในศตวรรษที่ 20 ทำให้เราได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจนทำให้ขาดสมดุล และเมื่อขาดสมดุลของระบบนิเวศ เมื่อมีคาร์บอนในชั้นบรรยากาศและในนํ้าสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุณหภูมิโลกจึงค่อย ๆ ร้อนขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งที่ว่าเราจะลดอุณหภูมิโลกที่กำลังร้อนขึ้นด้วยอัตราเร่งไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วย Net Zero ที่มีคำมั่นสัญญาและแผนการต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ถือเป็นเป้าหมายและภารกิจสำคัญของบริษัทและประเทศต่าง ๆ แต่คำถามคือแล้วประชากรโลกแต่ละคนละมีเป้าหมายอย่างไรต่อภารกิจที่สำคัญนี้

ทั้งนี้ นักวิชาการความยั่งยืนได้คำนวณว่า เพื่อไม่ให้โลกร้อนไปกว่านี้ ขึ้นไปอีก 1.5 องศาเซลเซียส ประชากรโลกแต่ละคนจะต้องให้คำมั่นว่าจะไม่ปลดปล่อยคาร์บอนเกิน 2 ตันต่อปี คำถามคือใครปล่อยอยู่เท่าไร? ซึ่งตัวเลขล่าสุดพบว่า พลเมืองของแต่ละประเทศมีการปล่อยคาร์บอน ดังต่อไปนี้ สหรัฐอเมริกา 16.5 ตันต่อคนต่อปี, ออสเตรเลีย 15.4 ตันต่อคนต่อปี, แคนาดา 15.1 ตันต่อคนต่อปี, เนเธอร์แลนด์ 9.9 ตันต่อคนต่อปี, ญี่ปุ่น 9.5 ตันต่อคนต่อปี, เยอรมนี 8.9 ตันต่อคนต่อปี, จีน 7.5 ตันต่อคนต่อปี, อังกฤษ 6.5 ตันต่อคนต่อปี, ฝรั่งเศส 4.6 ตันต่อคนต่อปี, สวีเดน 4.5 ตันต่อคนต่อปี, อินเดีย 1.7 ตันต่อคนต่อปี และ โซมาเลีย ไม่มีการปล่อยคาร์บอนเลย คืออยู่ที่ 0 ตัน ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้ คือจำนวนตันเฉลี่ยต่อประชากรหนึ่งคน ซึ่งเมื่อคูณจำนวนคนแต่ละประเทศเข้าไปก็รู้ได้เลยว่าใครที่ทำให้โลกร้อนขึ้น? และใครที่ควรจะต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้?

แล้วประเทศไทยมีการปลดปล่อยคาร์บอนอยู่ที่เท่าไหร่? โดยไทยมีค่าการปลดปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.77 ตันต่อคนต่อปี ซึ่งราว 40% มาจากการผลิตไฟฟ้า 29% มาจากอุตสาหกรรม 25% มาจากการขนส่งและการเดินทาง และที่เหลืออีกราว 6% มาจากกิจกรรมอื่น ๆ ดังนั้นประเทศไทยจะมีการปลดปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ราวสองร้อยกว่าล้านตันต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ๆ ที่ก้าวหน้าแล้ว ถือว่าไทยปล่อยไม่มากนัก แต่พวกเราก็ยังคงต้องรีบลดลงครึ่งหนึ่งให้ได้ เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้

แล้วเพื่อน ๆ ของเราในโลกเขาได้ลงมือทำอะไรกันแล้วบ้างอย่างเร่งด่วน? ซึ่งที่พบก็จะมีการลงมือทำในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1.เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด 2.ลดการใช้พลังงานในบ้าน อาทิ ลดการใช้เครื่องทำความร้อน หรือถ้าเป็นของไทยเราก็คือลดการใช้แอร์ 3.เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานสูงสุด และเลือกที่ทนทานที่สุด เพื่อให้ใช้งานได้เป็นระยะเวลาที่นานมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย 4.ใช้สินค้ามือสองและลดการใช้ของใหม่ ด้วยการใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด หรือถ้าเสียก็ควรซ่อม แทนที่จะเป็นการซื้อใหม่ 5.เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ใช้จักรยานหรือเดินให้มากที่สุด รวมถึงออกแบบเมืองใหม่ให้เหมาะสม 6.ปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน หรือทำการจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด 7.จัดการอาหารให้พอเพียง เพื่อไม่ให้มีของเหลือทิ้ง หรือ food waste 8.ลดการบริโภคอาหารที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เนื้อสัตว์

นี่เป็นแนวทางที่จะช่วยโลกใบนี้ได้ ในเวลาที่โลกต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ที่ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เรา ต้องเร่งลงมือทำทันที (Decade of Action) รวมถึงต้องชวนให้คนใกล้ตัวและคนรอบตัว ทั้งครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อน ๆ ให้มาร่วมมือ ร่วมใจ ลงมือทำร่วมกัน ก่อนที่ประตูสู่นรกอเวจีจะเปิดกว้างกว่านี้.