จากกรณีคนร้าย 2 ราย ใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงนายธนสรณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเหตุการณ์นี้มี น.ส.ศิรดา สินประเสริฐ หรือ ครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถูกลูกหลงเสียชีวิตด้วย เมื่อช่วงสายของวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ สร้างความเศร้าสลดให้ครอบครัว เพื่อนครูและนักเรียน รวมทั้งสาธารณชน ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวครูเจี๊ยบด้วยที่ต้องสูญเสียกำลังสำคัญของครอบครัว โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิให้แก่ครอบครัวทราบพร้อมรับคำขอการช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่วันเกิดเหตุ และเมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร คณะที่ 3 โดยมี นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้านสังคมสงเคราะห์และด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยที่ประชุมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของครูเจี๊ยบ เป็นเงิน 200,000 บาท ประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย 100,000 บาท 2.ค่าจัดการศพ 20,000 บาท 3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และ 4.ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท (กรณีเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ และเป็นที่สนใจของสาธารณชน) สำหรับการช่วยเหลือเยียวยานี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2559) ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีนายธนสรณ์ หรือน้องหยอด ผู้เสียหายอีกคนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมได้ไปแจ้งสิทธิและรับคำขอจากทายาทผู้เสียหายแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย โดยการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีสิทธิได้รับการเยียวยา โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือสอบถามได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77