เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางว่า  การศึกษาดังกล่าวจะนำไปใช้ในการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นค่าโดยสาร รวมถึงมาตรการกำกับค่าโดยสาร ร่างข้อกำหนดกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทางราง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางได้อย่างเท่าเทียม สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ก.พ.67และจะนำมาใช้เมื่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ต่อไป

นายอธิภู กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 นำร่องในรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายสีม่วง ช่วงสถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน ซึ่งกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 11% ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ขณะที่สายสีม่วง วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 5% และวันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 15%

ด้าน รศ.ดร.อำพล การุณสุนทวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งทางราง กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ข้อสรุปว่า ค่าแรกเข้า และค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่จะใช้กำหนดเป็นเพดานอัตราค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้าสายใหม่ หรือต่อสัญญาใหม่นั้น จะใช้ค่าที่กำหนดโดย MRT Standardize ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน และปรับขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยรถไฟฟ้าประเภท Heavy Rail เหมือนสายสีเขียว น้ำเงิน และม่วง ค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14-17 บาท/คน, รถไฟฟ้าโมโนเรล ค่าแรกเข้า 14-15 บาท และรถไฟฟ้าชานเมือง ค่าแรกเข้า 12 บาท และมีค่าโดยสาร 2-3 บาท/คน/กม. ส่วนในภูมิภาค ART ค่าแรกเข้า 14 บาท/คน, แทรม-รถไฟฟ้ารางเบา-โมโนเรล ค่าแรกเข้า 13-15 บาท/คน และมีค่าโดยสาร 2-3 บาท/คน/กม. โดยอัตราค่าโดยสารขั้นสูงจะอยู่ที่ประมาณ 42-45 บาท 

ขณะที่รถไฟระหว่างเมืองจากการวิเคราะห์ต้นทุน พบว่า เมื่อปี 62 มีต้นทุนเดินรถ 9,325 ล้านบาท ต้นทุนผู้โดยสารอยู่ที่ 1.85 บาท/คน/กม. หากเก็บค่าโดยสารอัตรานี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะไม่ขาดทุน แต่ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.39-1.48 บาท/คน/กม. ทีมที่ปรึกษาจึงใช้การคำนวณเป็นต้นทุนต่อที่นั่ง พบว่าอยู่ที่ 1.41 บาท/ที่นั่ง/กม. ซึ่งจะเป็นข้อเสนอในการให้ รฟท. ปรับปรุงค่าโดยสารในส่วนของรถไฟระหว่างเมืองเชิงพาณิชย์ต่อไป ส่วนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) พบว่า ค่าแรกเข้าควรอยู่ที่ประมาณ 95 บาท และอัตราค่าโดยสารควรอยู่ที่ 1.73 บาท/คน/กม. อย่างไรก็ตามในส่วนนี้จะยังไม่รวมกับค่าธรรมเนียมบริการ เพราะรถไฟ และรถไฟความเร็วสูง จะมีที่นั่งแยกเป็นแต่ละชั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะมีอัตราไม่เท่ากัน

รศ.ดร.อำพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น หากดำเนินการในระยะยาว และมีเพดานขั้นสูงที่ 20 บาท จะเป็นภาระงบประมาณของรัฐสูงมาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรจะจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่ (Zonal fare) อาทิ โซน 1 เก็บ 20 บาท โซน 2 เก็บ 25 บาท และโซน 3 เก็บ 30 บาท เป็นต้น ซึ่งจะสะท้อนค่าใช้จ่ายจริง และหากให้ภาครัฐชดเชยตลอดไป อาจจะเป็นไปไม่ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทุกระบบ 1,631,599 คน แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมือง 64,368 คน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 70,377 คน, รถไฟฟ้าสายสีแดง 28,471 คน, รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) 474,708 คน-เที่ยว, รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) 76,960 คน, รถไฟฟ้าสายสีเขียว 830,138 คน, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 35,667 คน และสายสีชมพู 50,910 คน ซึ่งสายสีชมพูเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 เป็นวันแรก ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00-20.00 น.