กว่า 200 ประเทศปรับแก้ไขแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลง 45% จาก พ.ศ. 2563 ภายใน พ.ศ. 2573 และการปล่อยมลพิษต้องเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 เพื่อให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนำมาสู่การลงนามร่วมกันภายใต้ข้อตกลงในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยภาครัฐและภาคเอกชนไทยก็ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและขับเคลื่อนความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ

การดูแลรักษาป่า รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเป็นกลไกสำคัญ ช่วยการกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญ ชุมชนต้นแบบ เครือข่ายป่าชุมชน ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนเข้มแข็งซึ่งร่วมกันอนุรักษ์ป่าผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต ประสบความสำเร็จภายใต้ โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

เครือข่ายชุมชน ตำบลแม่โป่งมีบทบาทร่วมกับภาครัฐและเอกชนดูแลรักษาป่าครอบคลุมพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ และนับแต่เริ่มโครงการฯ ปี 2563 ในระยะเวลา 3 ปีกว่าสามารถแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้เกือบ 100% ลดการเกิดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งขยายผลสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่เกิดรายได้จากอาชีพใหม่ ๆ เช่น การทำผลิตภัณฑ์ภาชนะอาหารจานใบไม้ พวงหรีดจากเศษใบไม้ ฯลฯ ดูแลป่าประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนในการจัดทำโครงการฯ นำประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรชุมชน พาชม โมเดลการอนุรักษ์ผืนป่า ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแนวคิดความร่วมมือ
เข้มแข็งของชุมชนที่ร่วมกันปกป้องดูแลป่ารักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน โดย วิชัย เป็งเรือน ประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง และผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ตำบลเรามีทั้งหมด 10 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย 8 หมู่บ้านมีเขตป่า ส่วนอีก 2 หมู่บ้านไม่มีเขตป่า แต่ก็นำทั้งสองหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นเครือข่ายป่าชุมชนของเราเพื่อช่วยกันดูแลรักษาป่า

“การดูแลป่าก่อนหน้านี้ชุมชนที่นี่ดำเนินการต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น มีแนวคิด “ป่าก็คือบ้านของเราทุกคน” เป็นลมหายใจ เป็นแหล่งอาหาร เมื่อเราพึ่งพิงอาศัยป่าจึงต้องดูแลรักษาป่า โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดำเนินการในพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ มี 8 ป่าชุมชน โดยมีทีมวางแปลงทำงานภาคสนาม โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้คำแนะนำถ่ายทอดความรู้ ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านทุกหมูบ้านได้เข้าร่วมเป็นทีมวางแปลง รวมกันเป็นชุดแม่โป่ง ทำงานร่วมกันทั้งหมด”

อย่างเช่น เราวางแปลงของบ้านนี้เสร็จก็จะวนไปอีกป่าชุมชนของอีกบ้านหนึ่ง ทุกคนร่วมกันวางแปลงทั้ง 8 ป่าชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่บ้านใดบ้านหนึ่งทำ แต่จะทำไปพร้อมกันซึ่งทำให้เห็นบริบทผืนป่าแต่ละพื้นที่ อีกทั้ง เยาวชน วัยกลางคน รวมถึงผู้สูงอายุก็ร่วมกันทำงาน อย่าง ผู้สูงอายุ มีประสบการณ์เรื่องพันธุ์ไม้ วัยกลางคน มีความแม่นยำเรื่องการวัดค่าต่าง ๆ ขณะที่เยาวชนหรือวัยหนุ่มสาว มีความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ก็จะช่วยกัน โดยที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯให้คำแนะนำ ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน โดยมีกองทุนคือ กองทุนดูแลป่าชุมชน และกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ผู้ใหญ่บ้านวิชัยเล่าอีกว่า จะมีการตรวจลาดตระเวนป้องกันไฟ มีหน่วยปฏิบัติการดับไฟป่า โดยทุกเย็นจัดเวรขึ้นไปบนดอยผาผึ้งซึ่งเป็นจุดดูไฟของตำบลสังเกตว่ามีไฟเกิดขึ้นจุดไหนหรือไม่ ทำป้ายพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ และทำแนวกันไฟโดยสามารถขยายแนวป้องกันไฟ ป้องกันการบุกรุกป่า

“แต่เดิมเราทำแนวกันไฟกันเป็นประจำปีอยู่แล้ว โดยประกาศให้ชาวบ้านรวมตัวช่วยกันอย่างน้อยปีละครั้ง แม้ไฟป่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่จะมีลามมาจากสันดอย จากงบประมาณในโครงการฯ สามารถขยายทำแนวกันไฟเพิ่ม ทำสันต่อสันป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามข้ามมาจากเขตข้างเคียง ทั้งนี้ตำบลแม่โป่งมีเขตป่าต่อเนื่องกับอำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพง

นอกจากนี้ยังทำคอกเสวียนเก็บกักใบไม้ในป่าชุมชน โดยบางหมู่บ้านทำทิ้งไว้ในป่าให้ใบไม้ย่อยสลาย หรือบางหมู่บ้านนำใบไม้ทำปุ๋ยหมัก สร้างฝายชะลอนํ้าแบบถาวรและกึ่งถาวร เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในผืนป่าชุมชนของเรา ต้นไม้ที่มีในป่าอยู่แล้วก็จะมีอัตราการเติบโตที่ดี ส่วนการปลูกป่าเสริมก็มีแต่จะเน้นปลูกในพื้นที่ที่มีต้นไม้น้อย อย่างบ้านต้นผึ้ง มีพื้นที่หนึ่งที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง เราขอคืนนำมาปลูกไผ่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้าน ได้เข้าไปหาหน่อไม้นำมาทำอาหาร ทั้งนำความเชื่อทางศาสนา การบวชป่านำมาผนวกควบคู่การดูแลรักษาป่า สืบชะตาป่าไม้และสายนํ้า

ผู้ใหญ่บ้านวิชัย อธิบายอีกว่า นอกจากการดูแลป่า ยังสร้างศูนย์เรียนรู้เครือข่ายป่าชุมชน อย่างที่บ้านแม่ฮ่องไคร้ นำพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นำมาเป็นศูนย์เรียนรู้ อีกทั้งช่วงหน้าแล้ง ใบตองตึง จะร่วงหล่นในป่าชุมชนไม่น้อย ใบตองตึงมีคุณสมบัติพิเศษ โดยมีนํ้ามันในตัว เมื่อเวลาเจอไฟป่า จะดับได้ยาก จึงมีแนวความคิดนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า

แต่เดิมใบตองตึงจะนำมาทำหลังคาบ้าน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยนิยม จากที่ไปศึกษาดูงานจึงนำมาแปรรูปทำเป็น จานใบไม้ โดยช่วงลอยกระทงจะนำมาทำเป็นกระทงรักษ์โลก ขณะเดียวกันเศษใบไม้ที่เหลือจากการตัดขอบจาน นำมาทำเป็นดอกไม้ ทำพวงหรีด ส่วนที่เหลือทำปุ๋ย ฯลฯ ใช้ประโยชน์จากใบไม้วัตถุดิบที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์ที่สุด ลดการเผากำจัดขยะ โดยปัจจุบันพัฒนาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้ง และส่งต่อความรู้ให้เยาวชน ปลูกฝังให้เด็ก ๆ เรียนรู้และมีส่วนร่วมโดยขยายสู่โรงเรียนในชุมชน ฯลฯ ร่วมกันรักษาป่า รักษาความสมบูรณ์ธรรมชาติสร้างความยั่งยืน.