เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เล่าว่า เดิมทีการมีส่วนร่วมของบริษัทต่าง ๆ ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมมักจะมุ่งเน้นไปยังเรื่องการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบัน หลายบริษัทมีการรายงานเกี่ยวกับการใช้พลังงานจริงของอาคารและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การวัดปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อยออกมาเมื่อสร้างอาคารใหม่ การประเมินความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศของอาคาร และพอร์ตทรัพย์สินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

ปัจจัยด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์และโอกาสทางสังคม จะมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของการก่อสร้างอาคารต่อสังคม เช่น สุขภาพของพนักงาน ผู้เช่า และชุมชนท้องถิ่น ส่วนปัจจัยด้านบรรษัทภิบาลจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างความเป็นผู้นำของบริษัท การปฏิบัติตามกฎหมาย ความหลากหลายของพนักงานและการรักษาพนักงาน วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงชื่อเสียง

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากตึกและอาคารมีการใช้พลังงานประมาณ 40% ของโลก หนึ่งในสี่ของการใช้น้ำทั่วโลก และหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกปี ขณะที่การผลิตปูนซีเมนต์มากกว่าสี่พันล้านตันคิดเป็นประมาณ 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมหลังการก่อสร้างยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบทำความร้อน ความเย็น และระบบแสงสว่างอีกด้วย ซึ่งอาคารมากกว่า 80% ถูกสร้างขึ้นแล้วในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าผลกระทบเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้ในอนาคตท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องจากหลายทิศทางให้ภาคการก่อสร้างหันมาให้ความสำคัญกับ ESG อีกทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหา ESG ทำให้ข้อกำหนดด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และการรายงานมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่งยังสามารถดึงดูดนักลงทุน เพราะเชื่อว่าจะทำให้อสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถดึงดูดผู้เช่าได้มากขึ้น มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อดึงดูดการลงทุนและลดความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีให้เหลือน้อยที่สุด

เนื่องจากขณะนี้ ESG มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ฉะนั้นการพิจารณาด้าน ESG ของอสังหาริมทรัพย์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับนักลงทุนตลอดวงจรชีวิตของสินทรัพย์ ตั้งแต่การคัดกรองโครงการต่าง ๆ ไปจนถึงการซื้อกิจการ การจัดการสินทรัพย์ การพัฒนาอาคารและการขายสินทรัพย์ ในขณะที่ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารในการให้บริการแก่ผู้เช่า

นอกจากนี้ การก่อสร้างยังเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ต้องมีการคำนึงถึง ESG มากที่สุดในแง่ของแรงงานทาสยุคใหม่ การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัย กฎหมายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความหลากหลายและความเท่าเทียมกันในการจ้างงานระหว่างเพศของพนักงาน รวมถึงผลกระทบทางสังคมของโครงการมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะมีบทบาทในการลดแรงจูงใจต่อพฤติกรรม ESG ที่ไม่พึงประสงค์โดยการออกกฎหมาย การเก็บภาษีและค่าปรับ ดังนั้น นักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ จึงมีความตื่นตัวในเรื่อง ESG มากขึ้น

ก่อนอื่นเราต้องมาดูว่ามีปัจจัยสำคัญอะไรที่มีผลกระทบทางการเงินกับบริษัทอย่างมีนัย และตัวบริษัทเองมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร โดยที่แนวคิดนี้เรียกว่า Double Materiality เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้าง เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้าง และบริษัทยังต้องให้ความสำคัญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งของคนงานก่อสร้าง พนักงานและครอบครัว รวมถึงชุมชนและบริษัทด้วย ดังนั้นความสามารถของบริษัทในการคาดการณ์ปฏิกิริยาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อธุรกิจและผลการดำเนินงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Double Materiality ยังใช้ได้กับประเด็นต่าง ๆ เช่น ความหลากหลาย ความเสมอภาคและการไม่แบ่งแยกในการจ้างงาน ทั้งนี้ในตลาดที่แรงงานมีความสามารถอยู่จำกัด การที่บริษัทสามารถดึงดูดพนักงานที่หลากหลายทำให้มีโอกาสดึงกลุ่มคนที่มีความสามารถมาเข้าร่วม ซึ่งมีผลต่อมูลค่าองค์กร ในทางกลับกัน หากบริษัทมีแนวทางปฏิบัติที่เลือกที่รักมักที่ชังก็อาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องหรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อมูลค่าขององค์กร นอกจากนี้ การเลือกปฏิบัติถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น Double Materiality จึงหมายถึงการมองประเด็น ESG ผ่านเลนส์ทางการเงินล้วน ๆ และผ่านเลนส์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ทั้งนี้ เมื่อนักลงทุนได้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การแปลงข้อมูลให้เป็นคะแนน หลังจากนั้นก็รวมคะแนนในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ทราบว่าบริษัทเหล่านี้มีคะแนนทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล อย่างละเท่าไหร่ และจะได้ทราบว่าบริษัทมีจุดแข็ง จุดอ่อนในด้านเหล่านี้อย่างไร จากนั้นจึงนำคะแนนทั้ง 3 ด้านมารวมกันเพื่อให้ได้คะแนนรวมและสามารถเปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น หลังจากนั้นก็ให้นำคะแนนรวมนี้มาแปลงเป็นตัวปรับเพิ่ม/ลดสำหรับอัตราคิดลด เพื่อนำมาคิดลดกระแสเงินสดในอนาคต.