ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ รายงานว่า ในช่วงวันที่ 10-12 พ.ย. ที่ผ่านมา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 85,345 ล้านบาท ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างสถานีเชียงราย ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ซึ่งเป็น 1 ใน 26 สถานีรถไฟของเส้นทางสายดังกล่าว โดยสถานีเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. วงเงิน 19,385 ล้านบาท ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ปัจจุบันใช้พื้นที่บางส่วนก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานโครงการชั่วคราวด้วย        

นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. เปิดเผยว่า สถานีเชียงราย เป็นสถานีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการฯ รองรับทั้งการขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร โดยจะเป็นสถานีศูนย์กลางการรองรับปริมาณสินค้าที่ไหลมาจากเชียงของ ที่รับสินค้ามาจากประเทศจีน ซึ่งตัวสถานีมีย่านกองเก็บสินค้า (CY) อยู่บริเวณด้านหลังสถานีด้วย สำหรับสถานีเชียงรายมีขนาดพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ย่านสถานี กว้างประมาณ 220 เมตร ยาวประมาณ 1,200 เมตร และมีอาคารสถานีขนาดใหญ่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 820 ตารางเมตร   

นายปัฐตพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาพรวมความคืบหน้างานก่อสร้างสถานีเชียงราย อยู่ที่ 6% โดยผู้รับจ้างอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการงานถมดิน และอัดบด เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารสถานีเชียงราย และย่านกองเก็บสินค้า รวมถึงงานถมดินส่วนของงานคันทางรถไฟบางส่วน คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในส่วนของอาคารสถานีได้ประมาณปลายเดือน ม.ค. 67 อย่างไรก็ตาม การออกแบบสถานี มีแนวคิดต้องการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นภาคเหนือ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากช้างสีขาวใต้ก้อนเมฆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงราย อีกทั้งเป็นจังหวัดที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย จึงออกแบบและใช้โทนสีเป็น 2 โทน คือ สีขาวเมฆ กับสีขาวงาช้าง 

นายปัฐตพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานี ได้ยึดหลักการออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) การออกแบบเพื่อคนทุกคน และนำบทเรียนที่เป็นปัญหาจากการก่อสร้างสถานีต่างๆ ของรถไฟทางคู่ มาปรับปรุงแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร และใช้งานได้อย่างแท้จริง โดยเป็นชานชาลาสูงขนาด 110 เมตร มีสะพานลอย ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางลาด และทางข้ามตรงกลางสถานี รวมถึงปลายชานชาลา 2 ด้าน หลังคาชานชาลาสามารถกันแดด กันฝนได้ สถานีแห่งนี้เป็นที่ราบ จึงมีความง่ายในการก่อสร้าง และการเข้าถึงของผู้โดยสาร อยู่ไม่ไกลจากย่านชุมชน  

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างสถานีเชียงราย เดิมเป็นพื้นที่กสิกรรม นาข้าว และสวนผลไม้ เมื่อมีการก่อสร้างอาจมีผลกระทบกับทางระบายน้ำ หรือทางน้ำสำหรับเกษตรกรรม จึงได้ออกแบบระบบระบายน้ำ เพื่อให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยรอบโครงการฯ โดยหลักการออกแบบนั้น เมื่อมีทางรถไฟ หรือการก่อสร้างในย่านสถานี ตัดผ่านลำน้ำธรรมชาติ หรือทางน้ำเดิม จะมีอาคารระบายน้ำไม่น้อยกว่าทางน้ำเดิม หรืออาคารระบายน้ำข้างเคียง ซึ่งอาคารระบายน้ำที่ก่อสร้างในย่านสถานีเชียงรายมี 2 รูปแบบ คือ อาคารระบายน้ำแบบท่อลอดแบบกล่องเหลี่ยม และอาคารระบายน้ำแบบคลองรับน้ำขนานกับทางรถไฟ   

นายปัฐตพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานีอื่นๆ ในสายทางนี้ ผู้รับจ้างอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างเช่นกัน อาทิ สถานีเชียงของ ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของโครงการฯ เชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียง ของของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ตั้งอยู่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยจะทำทางรถไฟเข้าไปยังศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ ซึ่ง ขบ. เว้นพื้นที่ไว้ให้แล้ว ระยะทางประมาณ 790 เมตร เพื่อเตรียมรองรับการขนส่งสินค้าที่มาจาก สปป.ลาว และจีน ทั้งนี้ สถานีเชียงของ เป็นสถานีขนาดเล็ก โดยได้นำอัตลักษณ์ของ รฟท. คือ ตึกแดง และโรงงานมักกะสัน มาออกแบบ เพื่อแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ว่า รฟท. มาถึงเชียงของ และจังหวัดสูงสุดของไทยได้แล้ว.