ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สร้างความตื่นตัวให้กับทุกประเทศในระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาการประชุมที่สำคัญอย่าง การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ในช่วงปลายปีนี้  

หลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ให้ได้ภายในศตวรรษนี้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องมีบทบาทนำในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมแสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส และต่างมีการเร่งเตรียมการและหารือประเด็นการเจรจาสำคัญเพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่อง Article 6 ของความตกลงปารีส ซึ่งเป็นกลไกการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างภาคีสมาชิกโดยสมัครใจได้เพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี ค.ศ. 2016 มาจากแหล่งกำเนิด 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ร้อยละ 71.65 ภาคเกษตร ร้อยละ 14.72 ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ร้อยละ 8.90 และภาคของเสีย ร้อยละ 4.73 โดยภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้สามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ 91 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 263 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก”ดังนั้น ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต คือ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งเป็นภาคการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ นอกเหนือจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการกำจัดของเสีย

“รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่า และพื้นที่สีเขียว โด ยกำหนดเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า และพื้นที่สีเขียว ให้ได้ร้อยละ 55  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน ปลูกไม้ยืนต้นให้มากขึ้น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคล พื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน ไปจนถึงหัวไร่ปลายนา และที่ว่างในเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจาก 90 เป็น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2037”

“ต้องยอมรับว่าศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของป่าแต่ละประเภทมีศักยภาพไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ และประเภทของป่า รวมถึงชนิดของต้นไม้ที่ปลูก แต่ถ้าหากเราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้าหมาย คือ เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ ได้เป็นร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เป็นร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท เป็นร้อยละ 5 จะสามารถเพิ่มปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 178.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่เมื่อหักลบกับการสูญเสียศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้นได้  จากกรณีไฟไหม้ป่า การบุกรุกทำลาย รวมถึงการทำไม้จากป่าเศรษฐกิจ และการตัดยางพารา รวมแล้วประมาณ54.71 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จึงทำให้เป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” 

“การดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ จึงเป็นอีกมาตรการเสริมที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศไทย ที่มุ่งดำเนินการตามความตกลงปารีส ภายใต้หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงขีดความสามารถและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน” นายจตุพรกล่าว