ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้เริ่มจากการเล่าเรื่องที่ได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมผู้นำโลกที่ UN ซึ่งเป็นภารกิจแรก ๆ ตามมาด้วยการบอกเล่าเกี่ยวกับเดินสายไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เพื่อเปิดประตูการค้า ด้วยการทำหน้าที่ salesman ประเทศไทย ในการเจรจาการค้าการลงทุน ซึ่งท่านได้บอกว่าในทุก ๆ การประชุมนั้น เรื่องของความยั่งยืนเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้นำระดับโลกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากทุกคนต่างตระหนักดีว่าเราได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” ซึ่งวิกฤติโลกจะทำลายทุกสิ่ง และทุก ๆ ประเทศจำเป็นจะต้องรีบเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว ซึ่งจากหลาย ๆ คำถามที่ผมได้ถามกับท่านไป ผมคิดว่าในวิกฤตินี้ ท่านเองก็ได้มองเห็นโอกาส ซึ่งท่านได้บอกว่าที่ผ่านมารัฐบาลวางพื้นฐานไว้ดีมาก และจากผลของ SDG Index ประเทศไทยนั้นก็อยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ทั้งนี้เราก็อย่าประมาท เพราะถ้าจะดึงดูดนักลงทุนและคู่ค้านานาชาติที่มีมาตรฐานความยั่งยืนสูงนั้น ไทยต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืนด้านต่าง ๆ ด้วย ทั้งด้านกายภาพ ทั้งด้านอุตสาหกรรม รวมถึงด้านการศึกษา ที่เป็นรากฐานของทุนมนุษย์ ซึ่งผมถอดรหัสได้ว่าท่านคิดเรื่องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งด้วยกลไกความยั่งยืน

ผมเริ่มเห็นความคิดของท่านชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เมื่อผมได้สอบถามเรื่องของการ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยท่านได้เริ่มต้นเล่าเรื่องศักยภาพของประเทศบนพื้นฐานของเกษตรกรรมว่า ประเทศไทยของเรามีที่ดินที่สมบูรณ์ ที่สามารถปลูกพืชพรรณต่าง ๆ ได้ดี โดยเราจะต้องรักษาคุณภาพดินเอาไว้ และต้องเร่งปรับปรุงความสามารถของเกษตรกร เพื่อให้ก้าวสู่การเป็น smart farmer เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความมั่นคงของเกษตรกรไปพร้อม ๆ กับความมั่นคงทางอาหาร เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญ และนี่คือเรื่องของ “ดิน”

แต่เรื่องของดินอย่างเดียวคงยังไม่พอ แต่ต้องมีเรื่องของ “นํ้า” ด้วย ที่จะต้องมีความสมบูรณ์ของนํ้า เนื่องจากประเทศไทยของเรามีปัญหาเรื่องของนํ้า ทั้งมากเกินไปและน้อยเกินไป โดยเมื่อเวลาที่ฝนตกลงมา เราเก็บนํ้าไว้ใช้ได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ซึ่งถ้าเจอภาวะโลกเดือด หรือมี El Nino ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งจะทำให้นํ้าเพื่อการเกษตรก็จะมีปัญหา จากนั้นก็ตามมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับนํ้าดื่มนํ้าใช้ ที่อาจลามถึงปัญหานํ้าในระบบโรงงานอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงเร่งพัฒนาเรื่องของการจัดการนํ้าทั้งระบบ และอีกไม่นาน water footprint ก็จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า carbon footprint และนี่คือเรื่องของ “นํ้า”

นอกจากนํ้าแล้ว อีกไม่นานจะเป็นฤดูเผาป่าเพื่อเตรียมทำการเกษตร ซึ่งจะทำให้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ก็จะวนกลับมา ซึ่งถ้าคุณภาพอากาศของเราไม่ดี เรื่องของความยั่งยืน ทั้งคุณภาพชีวิตและการท่องเที่ยวก็จะขาดความสามารถในการแข่งขันไป ทำให้ประเทศไทยของเราจะต้องมีมาตรการเรื่องคุณภาพอากาศ มีการขนส่งที่สะอาด และเพิ่มการใช้รถ EV ตลอดจนต้องส่งเสริมมาตรฐานการก่อสร้างไร้ฝุ่น และการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนให้มากขึ้น นี่คือปัจจัยในเรื่องของ “ลม”

สุดท้าย ท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกว่า ถ้าอยากได้ธุรกิจแบบ low carbon เราก็ต้องขยายพลังงานสะอาดต่าง ๆ หลายรูปแบบ และส่งเสริมสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่สะอาดขึ้น และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล รวมถึงควรมีการจัดการระบบผลิตและสายส่งให้ยืดหยุ่น กับมีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับการใช้งาน ซึ่งไทยเราอาจจะต้องทำความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าสะอาดในระดับภูมิภาคอีกด้วย และนี่เป็นปัจจัยเรื่องของ “ไฟ”

จากการได้พูดคุยกับ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ผมจึงถอดรหัสความยั่งยืนในช่วงที่พูดคุยกันในเวลาสั้น ๆ กับท่านว่า เราต้องใส่ใจปัจจัยพื้นฐานอย่าง “ดิน นํ้า ลม ไฟ” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มจากสิ่งที่เรามี เริ่มจากการพัฒนาสิ่งที่เป็นรากเหง้าของเรา เพราะถ้าหากเราใส่ใจปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ และทำให้สมดุล ไทยเราจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เพราะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทั่วโลกนั้นกำลังมองหาคู่ค้าที่เป็นแหล่ง supply chain ที่มีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเร่งพัฒนาคนที่มีความรู้ความสามารถด้านความยั่งยืนสาขาต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และผมยังได้ถอดรหัสจาก statement สุดท้ายของท่านนายกรัฐมนตรีอีกว่า ความยั่งยืน ไม่ใช่งานพิเศษหรืองานเพิ่ม แต่ทุกคนจะต้องทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดย inclusive ผสมอยู่ในเนื้องานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน ดังที่ท่านได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งผมสรุปได้ว่ารหัสที่ผมถอดได้จากท่านนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ต้องเปลี่ยนวิกฤติโลก ให้เป็นโอกาสของประเทศไทย ด้วยพอเพียง…ยั่งยืน.