Sustainable Daily ขอพาไปชมโครงการดี ๆ ของมูลนิธิเอสซีจี กับโครงการ “Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ซึ่งได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดสตูล พบกับ “ต้นกล้าเป็ด” นายจักรกริช ติงหวัง อายุ 40 ปี ลูกหลานชาวประมงที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ปัจจุบันเขาเป็นแกนนำของชุมชนอ่าวทุ่งนุ้ย ในการพัฒนาพื้นที่ละแวกนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน เรียกได้ว่าชุมชนในเครือข่ายของเขา สามารถลืมตาอ้าปาก มีรายได้จากการประกอบอาชีพรองรับการท่องเที่ยว

ต้นกล้าเป็ด เล่าให้ฟังว่า ชุมชนของเขายึดแนวทางการบริหารจัดการท่องเที่ยว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เกิดกลไกการสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญผู้มาเยือนได้โอกาสเรียนรู้ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรมอีกด้วย

ปัจจุบันต้นกล้าเป็ด ร่วมกับชุมชน ช่วยกันสร้างสรรค์โปรแกรมการท่องเที่ยวที่มีบริการอันน่าประทับใจ บริการเมนูอาหารจากเชฟชุมชน ที่เป็นเมนูท้องถิ่น หาทานยาก ปรุงด้วยวัตถุดิบสดใหม่จากชายฝั่งทะเล มีการปรับปรุงสูตรให้ถูก ปากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ใครได้ชิมแล้วล้วนประทับใจบอกต่อกันนักต่อนัก นอกจากนี้ยังมีบริการเรือนำเที่ยวชมความงามของท้องทะเล

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวที่ “ต้นกล้าเป็ด” แนะนำให้ทุกท่านได้มาร่วมเรียนรู้การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไปด้วยกันในพื้นที่ อ.ละงู ได้แก่ การเรียนรู้ระบบนิเวศที่อ่าวทุ่งนุ้ย, ปันหยาบาติก แหล่งผลิตผ้ามัดย้อมสกัดสีดินท้องถิ่นแห่งแรกในไทย ผ่านลวดลายฟอสซิลโบราณ, เกาะลิดีเล็ก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ชมชายหาด ป่าโกงกาง และสะพานข้ามกาลเวลา ซึ่งเป็นทางเดินริมทะเลเลียบเขาโต๊ะหงาย เป็นจุดเชื่อมต่อของหิน 2 ยุค คือ คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 541-485 ล้านปี) และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 485-444 ล้านปี) ได้รับการรับรองจากยูเนสโก

นี่คือตัวอย่างของการสร้างคน 1 คนให้มีพลัง แล้วกลับมาพัฒนาชุมชนตนเอง สร้างกลไกและเครือข่ายชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้ เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านชุมชนเองก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ส่วนธรรมชาติและระบบนิเวศก็ได้รับการอนุรักษ์ไปด้วย Sustainable Daily ขอชื่นชมโครงการดี ๆ แบบนี้ อยากให้เกิดกลไกแบบนี้ไปทั่วประเทศ.