โทรศัพท์มือถือ ก็ถือเป็นหนึ่งในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกันแล้ว เพราะกลายเป็นอุปกรณ์ติดตัวทุกคนไปแล้ว และบางคนก็มีมือถือใช้งานมากกว่า 1 เครื่องด้วย

โดยปัจจุบัน มีคนใช้สมาร์ตโฟนกว่า 5,000 ล้านเครื่อง ส่งผลให้มี e-Waste มือถือทั่วโลก จำนวน 53.6-54 ล้านตัน และได้มีการคาดการณ์กันว่า ตัวเลขจะสูงขึ้นไปถึง 75 ล้านตัน ในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 และตัวเลขจากสมาคมจีเอสเอ็ม ภายในสิ้นปีจะมีประชากรโลก 5,400 ล้านคนที่มีการใช้งานมือถือ และอุปกรณ์ต่อพ่วง

ทั้งนี้จากตัวเลขของ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้ศึกษาพบว่า e-Waste มูลค่า 5.7 หมื่นพันล้านดอลลาร์ ที่ถูกเผาทำลายอย่างผิดวิธี และมี e-Waste มูลค่าเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี

ขณะที่ตัวเลขจากสมาคมจีเอสเอ็ม ภายในสิ้นปีจะมีประชากรโลก 5,400 ล้านคนที่มีการใช้งานมือถือ และอุปกรณ์ต่อพ่วง และสถิติที่ผ่านมา e-Waste จากมือถือทำให้คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นถึง 53%

สำหรับประเทศไทยมี e-Waste สูงถึง 4 แสนตัน แต่มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากมือถือจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เมื่อมีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทางผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทุกแบรนด์ ที่เป็นต้นทางก็เริ่มให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม” มากยิ่งขึ้น โดยได้ยึดมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ของสหภาพยุโรปเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดสารประกอบเพื่อผลิตเป็นโทรศัพท์มือถือ

โดยชิ้นส่วนทุกอย่างต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว มีการจำกัดปริมาณสาร 10 ชนิด อาทิ ตะกั่ว (Pb) ไม่เกิน 0.1% โดยนํ้าหนัก ปรอท (Hg) ไม่เกิน 0.1% โดยนํ้าหนัก แคดเมียม (Cd) ไม่เกิน 0.01% โดยนํ้าหนัก และ เฮกซะวาเลนท์ โครเมียม (Cr-VI) ไม่เกิน 0.1% โดยนํ้าหนัก ฯลฯ ซึ่งสินค้าใดที่ผ่านมาตรฐาน RoHS จะมีสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร Pb คาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีการระบุคำว่า RoHS compliant หรือ Pb-Free อยู่บนสินค้านั้น ๆ

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน หน่วยงานต่าง ๆ ในไทยก็ให้ความสำคัญกับการกำจัด e-Waste โดยในส่วนของผู้ให้บริการมือถือ อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการแบรนด์ทรู และดีแทค กำหนดเป้าหมายเป็นองค์กรจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบ เป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งสามารถนำทุกชิ้นส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ต่อได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องฝังกลบ โดยมีโรงงานและผู้เชี่ยวชาญในการคัดแยก

และได้เปิดตัวโครงการ “e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ” อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำสมาร์ตโฟนเก่า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เลิกใช้งาน มาทิ้งได้ที่กล่องจุดรับขยะ e-Waste ทั้งที่ ทรูช็อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค รวม 154 สาขาทั่วประเทศ

สำหรับกระบวนการจัดหาบริษัทรีไซเคิลตามนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการ จะประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Agreement of Responsible Business Conduct และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

โดยได้ร่วมกับเทส (TES) ผู้นำระดับโลกในเรื่องของการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสาขามากกว่า 20 ประเทศอยู่ทั่วโลกทั้งหมด 38 แห่ง โดยทุกแห่งได้รับมาตรฐาน ISO14001 OSHAH18001 ISO9001 และ ISO27001 ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเต็มรูปแบบภายใต้นโยบาย zero landfill

ส่วนทางเอไอเอสได้ประกาศเป้าหมายหวังเป็นศูนย์กลางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยจัดโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ตั้งแต่ปี 2019 มี 142 พันธมิตรได้เข้าร่วมในโครงการนี้ โดยมีจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2,484 แห่ง ซึ่งพัฒนาระบบนิเวศการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) บนแพลตฟอร์ม “อีเวสต์พลัส” (E-Waste+) ซึ่งจะทำให้ผู้ทิ้งสามารถติดตามได้ว่าขยะที่เราทิ้งไปอยู่ไหนในขั้นตอนใด ตั้งแต่เริ่มจากผู้ทิ้ง ผู้รับขยะ การขนส่งไปจนถึงปลายทางโรงงานจัดการขยะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ตามมาตรฐานแบบ Zero Landfill

โดยเทคโนโลยี Blockchain จะทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้นสามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด

ถือเป็นการตื่นตัวในฐานะผู้ประกอบการที่จะช่วยการจัดการขยะ E-Waste ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และโลกของเรา.